EDU Research & ESG

'DPU'ร่วมเปิดงานนิทรรศการความยั่งยืน โลกแห่งความคิดสร้างสรรค์หอศิลป์กทม.



กรุงเทพฯ-มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) และ กลุ่มมหาวิทยาลัยในภาคีเครือข่าย 4U PLUS ร่วมจัดงานนิทรรศการ “ความยั่งยืนในโลกแห่งความคิดสร้างสรรค์ของงานศิลปะและการออกแบบ” ครั้งที่ 5 ภายใต้ความมือกับสภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย สานต่อกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในวงการศิลปะและการออกแบบทั้งทางสายวิชาการและวิชาชีพ พร้อมทั้งลงนามบันทึกความร่วมมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการผลงานสร้างสรรค์ระหว่างศิลปิน คณาจารย์ และนักศึกษา ทางด้านงานออกแบบศิลปกรรมทุกแขนง

วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมลงนามเซ็น MOU พร้อมเปิดงานนิทรรศการแสดงผลงานสร้างสรรค์ “ความยั่งยืนในโลกแห่งความคิดสร้างสรรค์ของงานศิลปะและการออกแบบ” The 5th International Arts & Designs Collaborative Exhibition 2023 (IADCE 2023) : Sustainability in Creative Art & Designverse  ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร  ถนนพระราม 1 กทม. โดยงานในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 5 ที่มหาวิทยาลัยในภาคีเครือข่าย 4U PLUS อันประกอบด้วยคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับ สภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย ได้จัดขึ้น โดยจะเวียนกันเป็นเจ้าภาพ และ ดำเนินการจัดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการผลงานสร้างสรรค์ระหว่างศิลปิน คณาจารย์ และนักศึกษา ทางด้านงานออกแบบศิลปกรรมทุกแขนง

 

สำหรับนิทรรศการปีนี้มีผลงานของศิลปินจำนวนถึง 103 ผลงาน โดยมาจากทั้งมหาวิทยาลัยในไทยและต่างประเทศด้วยกันรวม  8 ประเทศ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา อิตาลี อิหร่าน อินโดนีเซีย เยอรมนี จีนไทเป และไทย  งานทั้งหมดจัดแสดงที่บริเวณผนังโค้งชั้น 3-4 ซึ่งเป็นการแสดงงานทางศิลปะและการออกแบบของผู้เชี่ยวชาญทั้งจากสายวิชาการและวิชาชีพ

อาจารย์กมลศิริ วงศ์หมึก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยว่า “การลงนามในความร่วมมือโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ด้านศิลปกรรมและการออกแบบต่อสาธารณชน และ เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอันจะเป็นรากฐานไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการหรืองานด้านอื่นๆ ที่จะเป็นการพัฒนางานศิลปกรรมและงานออกแบบของสถาบันให้ก้าวหน้าและเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง   ซึ่งผลงานทั้ง 103 ชิ้นได้ผ่านการคัดเลือกพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการออกแบบแขนงจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อประสม ภาพถ่าย สื่อวีดีทัศน์ งานออกแบบ งานกราฟิกดีไซน์ ศิลปะการแสดง  โดยจะจัดแสดงถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 นี้”

ขณะที่ ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ ประธานสภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ชื่นชมและยินดีที่ได้มาร่วมกันจัดงาน ทำให้ได้เห็นบทบาทความร่วมมืออันเป็นปรากฏการณ์สำคัญในการแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ของต่างสถาบันซึ่งเป็นความมุ่งหมายหลักที่ประสงค์ให้เกิดขึ้น และ เป็นตัวอย่างของการร่วมมือกันในอนาคตที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยและสังคมโลก เพราะงานทั้งหมดสะท้อนวิถีชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย อารมณ์ความรู้สึกที่อยู่ท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยมีผลกระทบจากภัยต่างๆ เป็นอย่างดี ส่งต่อพลังให้ผู้คนที่เข้าชมผลงานให้มีความตระหนักถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกให้มีจิตสำนึกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม”

“ศิลปะนั้นสามารถที่จะเยียวยาหัวใจของมนุษย์ทุกคนในโลกนี้ได้ เพราะว่าศิลปะสร้างโดยมนุษย์ เป็นภาพสะท้อนความสะเทือนใจของศิลปิน ดังนั้นผู้ที่เสพงานศิลปะจะได้รับความสะเทือนใจนั้นแล้วกระตุ้นจิตสำนึกให้เป็นไปตามความรู้สึกของการเสพงานนั้น  ศิลปะถึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้มนุษย์มีสภาวะทางจิตและมีความสัมพันธ์ที่ดี และส่งเสริมความคิดที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสังคมต่อไป ซึ่งตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ดีในเวทีวิชาการให้สถาบันต่างๆ ในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องด้านศิลปะและการออกแบบได้ร่วมมือร่วมใจกันสนับสนุนส่งเสริมให้เป็นเวทีวิชาการระดับนานาชาติต่อไป  ซึ่งคนที่จะได้รับประโยชน์ก็คือนิสิตนักศึกษา คณาจารย์ ศิลปินทั้งในและต่างประเทศ ก็ขอแชร์ไปถึงสภาคณบดีทั้ง 30 กว่าท่าน อีกหน่อยจะเป็น 40U Plus เพิ่มเติมจาก 4U Plus”  

ภายในงานนิทรรศการภายใต้หัวข้อ ความยั่งยืนในโลกแห่งความคิดสร้างสรรค์ของงานศิลปะและการออกแบบ” ซึ่งมีผลงาน 103 ชิ้นจาก 8 ประเทศ ผศ.ศิริชัย พุ่มมาก คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เล่าว่า “ท่ามกลางเทคโนโลยีที่รุดหน้าพัฒนา งานนี้ถือเป็นคุณประโยชน์แก่วงการศิลปะทั้งนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ ศิลปิน ที่สามารถสื่อสารและถ่ายทอดงานศิลป์ อันจะก่อจะเกิดความร่วมมือเช่นในครั้งนี้ที่เกิดขึ้นและในครั้งหน้าที่จังหวัดปัตตานี อันจะเกิดความหลากหลาย และคุณค่า คุณประโยชน์ ที่จะพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป”

“เพราะความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องในมิติศิลปะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ความยั่งยืน ยังเชื่อมโยงไปในหลากหลายมิติด้วยกัน ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การเมือง ความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของผู้คนในสังคม เนื่องจากบ้านเรามีทุนทางด้านศิลปกรรมและวัฒนธรรมของตนเองที่เยอะมาก ดังนั้นตอนนี้ถือว่าอยู่ที่ขั้นกลางน้ำเพราะผลงานทั้ง 103 ชิ้นงาน ตอบโจทย์ทั้งหมดของความยั่งยืนในแต่ละบริบทที่ต่างกัน อันจะถูกหยิบนำไปใช้สร้างคุณประโยชน์และคุณค่าต่อไป และงานครั้งนี้หลายสถาบันรวมพลังกันแล้วมีการแลกเปลี่ยนกันโดยเฉพาะการดึงเครือข่ายของตนเองเข้ามา เปรียบเสมือนว่า หากเด็กนักศึกษาคือลูกหลาน เราคนเดียวช่วยพัฒนาครอบครัว แต่หากเรารวมพลังกัน จะสามารถพัฒนาสังคม พัฒนาระดับโลกได้เลย มันมีกำลังและพลังในการช่วยกันขับเคลื่อน ดึงมือกันให้ประสบความสำเร็จ”

ส่วนด้าน ผศ.บุญพาด ฆังคะมะโน คณบดีคณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ระบุทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นคือความยั่งยืนที่เชื่อมโยงต่อกันของงานศิลปะที่ถ่ายทอดผ่านชิ้นงานหรือผ่านรูปแบบเทคโนโลยีที่สะท้อนความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความยั่งยืนและความก้าวหน้าของโลก สิ่งสำคัญคือความร่วมมือเราจึงเน้นเรื่องของความร่วมมือเนื่องจากเป็นองค์ประกอบที่จะพัฒนาสังคม เทคโนโลยี ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์  

“นอกจาก 4 มหาวิทยาลัยที่แลกเปลี่ยนกัน พอได้เห็นความสำคัญก็จะเกิดความมีส่วนร่วม ฉะนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้ประโยชน์ในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันหลังร่วมมือกันแล้วก็จะเกิดความหลากหลายและปรากฏการณ์ใหม่ๆ ผู้ชมก็จะได้ประโยชน์ สังคมได้ประโยชน์ นอกเหนือจากแค่กลุ่มนักศึกษา อาจารย์ ศิลปิน ตรงนี้ก็คือความยั่งยืน และยิ่งมีความร่วมมือกันมาก ก็จะเกิดสิ่งที่ดีขึ้น ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้ง่ายและเร็วขึ้น พันธกิจการเรียนรู้ เผยแพร่ของเราก็ยิ่งเป็นแรงสะท้อนชี้นำให้ทุกอย่างเกิดผลดีต่อไป”

รศ.ดร.เสกสรรค์ ตันยาภิรมย์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา ทิ้งท้ายเสริมสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายในงานตั้งแต่วันที่ 23-28 พฤษภาคม 2566 โดยสำหรับนิสิตนักศึกษาที่จะได้เห็นว่าในปัจจุบันยังมีการนำผลงานศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียงในอดีต และ ปัจจุบัน นำเอาทั้งคุณค่าของงานศิลป์และคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาถ่ายทอด ซึ่งผู้เข้าชมจะได้ศึกษาความคิด กระบวนการสร้างสรรค์ ของศิลปินท่านนั้น จึงถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้คุณค่าของงานศิลปะรวมทั้งงานออกแบบต่างๆ ในการขับสังคมและประเทศของเราสร้างความก้าวหน้าทางศิลปะ วัฒนธรรม และการออกแบบระดับนานาชาติ

“ครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมความร่วมมือของเครือข่าย 4U Plus ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของทั้ง 4 มหาวิทยาลัย รวมทั้งสภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย เพราะพวกเราต้องการให้เกิดเวทีเผยแพร่ผลงานวิจัยในสาขาศิลปะ วัฒนธรรม และการออกแบบ เพื่อสังคม ประเทศชาติ สามารถนำไปต่อยอดได้ โดยเฉพาะในด้านการมีส่วนช่วยสนับสนุนทั้งด้านการเรียนการสอน และการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านศิลปกรรม จึงนับว่าเป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างสถาบันทางการศึกษาที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดเจนและมีความหลากหลาย ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ผลงานทุกชิ้นตอบโจทย์ทุกมิติเหล่านี้ซึ่งล้วนมีคุณค่า มีความหมายในตัวเอง ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับจิตใจของผู้คน เป็นเสียงสะท้อนสังคมในบริบทต่างๆ ได้ ซึ่งในนิทรรศการที่ผ่านมา 5 ปี ก็จะพบว่ารูปแบบ ความหมายก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ จึงอยากจะถือโอกาสเชิญชวนทุกท่านมาซึมซับความงาม ดีความความหมาย ของผลงานศิลปะจากศิลปินทุกท่านภายในงานนิทรรศการ IADCE 2023 ครั้งนี้”