In Bangkok

ผู้ว่าฯสัญจรสำนักงานสถานธนานุบาลฯ และสนง.ตลาดให้คิดถึงประโยชน์ปชช.



กรุงเทพฯ-(25 พ.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมติดตามงานในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร (โรงรับจำนำ กทม.) และสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร อาคารโกลด์ มาร์เก็ต เขตจตุจักร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า  วันนี้มาติดตามงานของ 2 หน่วยงานด้านการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร คือ สำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร (โรงรับจำนำ กทม.) และสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร  สำหรับโรงรับจำนำ กทม. เป็นหน่วยงานที่มีส่วนในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องรายได้และต้องการเอาของมาจำนำก่อนเพื่อนำเงินไปหมุนเวียนในครอบครัว ปัจจุบันมีโรงรับจำนำ กทม. 21 สาขา (ใน 20 เขต) มีประชาชนที่มาใช้บริการอยู่ประมาณ 700,000 คนต่อปี ซึ่งเฉพาะปี 2566 (1 ต.ค. 65 - 30 เม.ย. 66) เพียง 7 เดือน มีประชาชนที่มาใช้บริการประมาณ 400,000 คน ยอดจำนำประมาณปีละ 6,000 ล้านบาท ผลประกอบการพอไปได้ จึงได้ให้นโยบายหลัก ๆ 2 เรื่อง คือ 1. ต้องขยายการเข้าถึงของประชาชนให้ง่ายขึ้น ขยายจำนวนสาขาสถานธนานุบาลให้มากขึ้นและใกล้ชุมชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ดี มีความสะดวกในการเดินทางโดยไม่ต้องเดินทางไกล เป็นการลดค่าเดินทางในการนำของมาจำนำ อีกทั้งยังสะดวกในการมาไถ่ถอน  2. ไม่ให้คำนึงถึงแต่เรื่องของกำไรโดยกำหนดดอกเบี้ยแพง เพราะหัวใจของสถานธนานุบาลคือการช่วยเหลือประชาชนที่มีความยากลำบาก ฉะนั้น ให้พยายามช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง  ขณะเดียวกันได้สั่งการให้บริหารเงินสะสมอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดดอกผลและจะได้เป็นผลประโยชน์กลับคืนมาสู่ประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร

ส่วนสำนักงานตลาด ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีตลาดอยู่ 12 แห่ง ตลาดหลักคือตลาดจตุจักรซึ่งเป็นตลาดที่เช่าจากการรถไฟ นอกจากนี้ยังมีตลาดมีนบุรี ตลาดสนามหลวง 2 ที่เหลืออีก 9 แห่งเป็นตลาดชุมชน ที่เน้นย้ำเป็นนโยบายคือเรื่องสุขลักษณะ ซึ่งตลาดบางแห่งยังไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย หรือดูเรื่องความสะอาด ต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำเรื่องการจัดระเบียบไม่ให้รกรุงรัง มีความปลอดภัย พื้นไม่ลื่น ส่วนตลาดที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไปคือตลาดนัดจตุจักร ขณะนี้มีเรื่องภาระหนี้เพราะตั้งแต่รับมาดำเนินการยังไม่ได้มีการจ่ายค่าเช่าพื้นที่เพราะยังไม่มีการทำสัญญา ก็จะเร่งรัดดำเนินการให้ถูกต้อง ส่วนตลาดบางแคภิรมย์ที่เป็นการเช่าพื้นที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ทำตลาดเพื่อย้ายพ่อค้าแม่ค้าจากตลาดบางแคมาอยู่ที่นี่ปัจจุบันยังมีผู้มาใช้บริการน้อยเนื่องจากการเดินทางไม่สะดวก ซึ่งกรุงเทพมหานครยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ ก็จะต้องรีบดำเนินการ ภาพรวมต้องเอาตลาดของกรุงเทพมหานครเป็นตัวช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ประชาชน และตัวตลาดเองต้องบริหารเชิงรุกเน้นคุณภาพตลาดและคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนสูงสุด 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีการจอดรถในตลาดนัดจตุจักร ว่า ถ้าไปตลาดนัดจตุจักรปัจจุบันจะพบว่ามีถนนหลักอยู่ ซึ่งช่วงเช้าสามารถจอดได้ แต่ในช่วงบ่ายไม่อนุญาตให้จอด เพื่อจะช่วยให้คนสามารถเดินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ทางคณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาแล้วมีข้อสรุปว่า ช่วงเช้าเวลา 06.00-12.00 น. และหลัง 18.00 น. สามารถนำรถเข้ามาจอดได้ แต่ช่วงเวลา 12.00-18.00 น. ไม่สามารถนำรถเข้ามาจอดได้ นี่คือการตัดสินใจของคณะกรรมการตลาดซึ่งได้มีการทำแบบสอบถามประชาชนพบว่าประชาชนอยากได้ทางเดินที่กว้าง ขณะเดียวกันก็ได้ให้นโยบายว่า ต้องดูแลผู้ค้าด้านในด้วย โดยมีทางเดินจากด้านนอกเข้าด้านในได้สะดวก ทุกคนเดินทุกที่ได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงหากเป็นไปได้ให้ขยายถนนด้วยเพื่อให้สามารถเดินเข้าไปด้านในได้มากขึ้น คงจะนำเข้าไปอยู่ในแผนดำเนินการต่อไป 

ขณะที่นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงแนวทางบริหารจัดการที่จอดรถในตลาดนัดจตุจักร ว่า หากพิจารณาสถานที่จอดรถรอบบริเวณตลาดจตุจักรพบว่า สามารถจอดรถได้ประมาณ 5,000 คัน แนวทางแรก สำนักงานตลาดได้ประสานงานให้ผู้ค้าจอดรถในอาคารต่าง ๆ ในราคาที่ตกลงกันไว้ เพื่อให้ผู้ค้ามีที่จอดรถที่กระจายกันออกไป แนวทางที่สอง พยายามเปิดทางเข้า-ออกจากแนวรถไฟฟ้าให้เดินเข้ามาภายในตลาดได้ง่ายขึ้น  แนวทางที่สาม ที่ผ่านมาเคยมีผู้ค้าวางของขายขวางทางเข้าไปร้านค้าด้าน ปัจจุบันได้มีการเปิดทางเข้าให้โล่ง รวมถึงบริเวณหอนาฬิกาก็ได้เปิดทางโล่งไว้เพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้แผนระยะยาวหากสามารถพูดคุยตกลงกับทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ จะเปิดประตูทางเข้าบริเวณถนนกำแพงเพชรให้ตรงจุดนั้นเป็นที่จอดรถทัวร์ จุดจอดรถแท๊กซี่ไว้เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสาร ส่วนบริเวณรอบนอกจะดำเนินการจัดระเบียบใหม่

● สอบถามสารทุกข์สุกดิบ รับฟังปัญหา/ข้อเสนอแนะ พร้อมส่งมอบกำลังใจ

ในวันเดียวกัน ภายหลังการประชุมติดตามงาน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้แทนจากสำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร และสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 10 คน โดยได้มีการพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบ รับฟังปัญหา/อุปสรรคในการทำงานและปัญหาส่วนตัว รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ พร้อมให้กำลังใจในการทำงาน ทั้งนี้ การรับประทานอาหารร่วมกันเป็นนโยบายหนึ่งในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ซึ่งตอกย้ำการให้ความสำคัญกับบุคลากรของหน่วยงานอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

สำหรับผู้แทนจากสำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร จำนวน 5 คน ได้แก่
    1. นางสุลีภรณ์ กิตติบันเทิงกุล ผู้จัดการ สถานธนานุบาลจอมทอง
    2. นายจีรวัฒน์ ขาวสบาย รองผู้จัดการ สถานธนานุบาลอ่อนนุช
    3. นางสาวน้องหญิง กุลนาดา ผู้ช่วยพนักงานรักษาของ สถานธนานุบาลบางบอน
    4. นายภานุวัฒน์ รัศมีโชติ ผู้ช่วยพนักงานทะเบียน สถานธนานุบาลบางซื่อ
    5. นายธนากร จิตตสินนวา พนักงานสถานที่ สถานธนานุบาลถนนเสือป่า

ในส่วนของผู้แทนจากสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร จำนวน 5 คน ได้แก่
    1. นางวาสนา เคหดิษฐ์ พนักงานปฏิบัติงานทั่วไป ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ตลาดธนบุรี
    2. นายกัลยวรรธน์ วิมุกตะลพ ช่างซ่อมบำรุง งานซ่อมบำรุงและรักษาความสะอาด ฝ่ายตรวจและปฏิบัติการ 
    3. นางสาววันวิสาข์ เกาะเกตุ พนักงานงบประมาณและการเงิน งานงบประมาณและการเงิน ฝ่ายการคลัง
    4. นายวสันต์ ทับไทย พนักงานตรวจตลาด รักษาการในตำแหน่งผู้จัดการตลาดสิงหา งานตรวจและปฏิบัติการ ฝ่ายตรวจและปฏิบัติการตลาดชุมชน 
    5. นายแกละ ทุมพานิช ผู้ช่วยช่างซ่อมบำรุง งานซ่อมบำรุงและรักษาความสะอาด ช่วยงานตลาดประชานิเวศน์ 1 ตลาดชุมชน