In Bangkok
กทม.เข้มงวด! 9มาตรการความปลอดภัย ซ้อมแผนเผชิญเหตุโรงเรียนในสังกัด
กรุงเทพฯ-นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าวถึงการเข้มงวดมาตรการสถานศึกษาปลอดภัยและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุในโรงเรียนสังกัด กทม.เพื่อเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์กรณีเกิดภัยพิบัติรูปแบบต่าง ๆ ว่า กรุงเทพมหานครมีประกาศเมื่อวันที่ 11 ม.ค.66 กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาของ กทม.และศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของนักเรียนโดยรอบสถานศึกษา การติดตั้งกล้องวงจรปิด ติดตั้งระบบเตือนภัย และประตูทางออกฉุกเฉิน โดยให้สถานศึกษาบูรณาการร่วมกับสำนักงานเขต ชุมชนในพื้นที่ สถานีตำรวจ และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยของโรงเรียนในการป้องกันอุบัติเหตุ อุบัติภัย และภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่ง สนศ.ได้กำชับให้โรงเรียนดำเนินการเรื่องความปลอดภัยภายในโรงเรียนและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย (1) กำหนดให้เรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนเป็นนโยบายสำคัญของโรงเรียน (2) ดำเนินการเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนร่วมกับชุมชนและผู้ปกครอง (3) กำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบและมีคู่มือปฏิบัติสำหรับบุคลากร เพื่อความปลอดภัย (4) จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในโรงเรียน โดยมีตัวแทนครูและผู้ปกครองร่วมกันตรวจสอบปีละ 4 ครั้ง (5) จัดให้มีระบบการดูแลคุ้มครองเด็กที่ดี กำหนดให้มีโครงการป้องกันยาเสพติดและพฤติกรรมข่มขู่ รังแกนักเรียน (6) จัดให้มีระบบความปลอดภัยด้านอาคารและสถานที่โดยรอบของโรงเรียน (7) กำหนดการเดินทางไป-กลับโรงเรียนอย่างถูกวิธี มีความปลอดภัยจากการจราจร (8) มีการบันทึกข้อมูลอุบัติภัยในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ และ (9) จัดให้มีหลักสูตร “จิตสำนึกความปลอดภัย” ส่วนมาตรการป้องกัน แนวทางปฏิบัติ และการเฝ้าระวังด้านอุบัติภัย ได้แก่ การเฝ้าระวังอัคคีภัยในสถานศึกษาและวาตภัย/ธรณีพิบัติ ด้านอุบัติเหตุ ได้แก่ การป้องกันอุบัติเหตุจากอาคารเรียน และด้านสังคม ได้แก่ การล่วงละเมิดทางร่างกายและจิตใจ
ทั้งนี้ สนศ.จะร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาจัดการอภิปรายประเด็นความปลอดภัยในโรงเรียนสังกัด กทม. ในวันที่ 30 พ.ค.66 เวลา 13.00 น. ณ อาคารไอราวัตพัฒนา เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติและสร้างความเข้าใจการพัฒนาการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน