In Thailand
ผู้เลี้ยงโคนนมแนะรัฐบาลใหม่ลดต้นทุนการผลิตงดเก็บภาษีเกษตรกรดื่มนมฟรี365วัน
ราชบุรี-หลังจาก 8 พรรคการเมือง ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล หรือ MOU โดย1 ใน 19 ข้อตกลง คือ วาระการส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
วันที่ 2 มิ.ย.66 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ต.ดอนกระเบื้อง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อพูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมใน จ.ราชบุรี ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตน้ำนมดิบที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ โดย นายสมเกียรติ จันทรดา เกษตรกรชาว ต.ดอนกระเบื้อง อ.บ้านโป่ง เปิดเผยว่า ตนทำอาชีพเลี้ยงโคนมมาแล้วกว่า 30 ปี แต่คาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเลิกกิจการ เนื่องจากปี 2568 ประเทศไทย จะต้องยกเว้นการเก็บภาษี และยกเลิกโควตาสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมตามนโยบายเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่ได้ทำข้อตกลงไว้กับประเทศสมาชิก ซึ่งจะทำให้น้ำนมดิบของเกษตรกรไม่สามารถทำราคาสู้กับนมผงที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าร้อยละ 40 ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะค่าอาหารสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าก่อนหน้านี้ตนจะพยายามลดต้นทุน ด้วยการปรับลดสูตรโปรตีนอาหารข้น และหันมาตัดหญ้าขนทดแทนการใช้ต้นข้าวโพด เพื่อลดรายจ่าย แต่ก็ยังไม่เพียงพอ แถมยังส่งผลทำให้รีดน้ำนมดิบจากแม่โคได้ในปริมาณที่ลดลงถึงร้อยละ 30 ซึ่งโดยภาพรวมในปัจจุบันอาชีพเลี้ยงโคนมจะดูเหมือนว่ามีรายได้สูง แต่ก็มีรายจ่ายที่ไม่ต่างกันเลย ยกตัวอย่างเช่น ตนสามารถขายน้ำนมดิบได้เดือนละ 1 แสนบาท ต้นทุนการผลิตก็ 1 แสนบาทเท่ากัน ไม่เหลือกำไรเลี้ยงปากท้องตัวเอง ไม่หนำซ้ำยังต้องมาเสียภาษีรายได้เกษตรกรตอนสิ้นปีอีกทอดหนึ่ง รวมไปถึงต้องเสียภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน และภาษีทางอ้อมทุกอย่าง ตนจึงอยากให้รัฐบาลใหม่พิจารณาอัตราการจัดเก็บภาษีรายได้จากผู้เลี้ยงโคนมให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับความเป็นจริง รวมถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องของราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างเร่งด่วน ซึ่งไม่เพียงแต่เกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ ภาคปศุสัตว์ทุกกลุ่ม ทั้งผู้เลี้ยงวัวเนื้อ หมู ไก่เนื้อ และไก่ไข่ รวมไปถึงผู้บริโภคเองก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย
ขณะที่ นายสุบิน ป้อมโอชา อดีตประธานกรรมการสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) และเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ต.หนองโพ อ.โพธาราม เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนเกษตรกรได้พยายามยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล เพื่อขอปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบอีกกิโลกรัมละ 3 บาท จากเดิมที่รับซื้ออยู่กิโลกรัมละ 19 บาท แต่กลับอนุมัติให้เพียง 1.50 บาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรต้องอยู่ในภาวะขาดทุน
ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย รัฐบาลใหม่ควรพิจารณาอนุมัติปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รวมไปถึงการอุดหนุนน้ำนมดิบของเกษตรกร โดยผ่านโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จากเดิมที่เด็กนักเรียนจะต้องได้ดื่มนมโรงเรียนครบ 260 วัน ต่อปีการศึกษา ให้เพิ่มเป็น 365 วัน และครอบคลุมนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
สุจินต์ นฤภัย / ราชบุรี