Travel Sport & Soft Power
ผู้ว่าฯสุรินทร์เปิดประเพณี'ขึ้นเขาสวาย'
สุรินทร์-พิธีบวงสรวงพนมสวาย ในงานประเพณีขึ้นเขาสวาย ครั้งที่ 21 ประจำปี 2564 ผู้ว่าฯเมืองช้างเป็นประธาน จัดพิธีบวงสรวงพนมสวาย ในงานประเพณีขึ้นเขาสวาย ครั้งที่ 21 ประจำปี 2564
นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพนมสวายในงานประเพณีขึ้นเขาสวายประจำปี 2564 ณ บริเวณวนอุทยานพนมสวาย ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ความเป็นมาของประเพณีขึ้นเขาสวาย จังหวัดสุรินทร์มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สำคัญซึ่งผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนพื้นที่เมืองมาอย่างยาวนานแห่งหนึ่งคือเขาสวายหรือพนมสวาย อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาสวายท้องที่ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ มีเนื้อที่ประมาณ 1,975 ไร่อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศมีลักษณะเป็นเนินเขาเตี้ยๆติดต่อกัน รอบๆบริเวณมีเวิ้งน้ำใหญ่ทิวทัศน์สวยงาม นอกจากนี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนของทุกปี ต้นหมากหม้อหรือชาวบ้านเรียกกันว่า "ต้นอั๊ดจรูก" จะออกดอกบานสะพรั่งสวยงามมาก เขาสวายประกอบไปด้วยยอดเขา 3 ลูกซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันออกไปดังนี้ ยอดเขาที่ 1 พนมเปร๊าะหรือเขาชาย มีความสูงประมาณ 220 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระมงคลและปราสาทหินพนมสวาย พร้อมบาราย 3 ลูก และเจดีย์ศิลาแลงโบราณจำนวน 1 องค์อยู่บริเวณเชิงเขาใกล้ทางขึ้นของเขาลูกดังกล่าวด้วยปราสาทหินพนมสวายมีความเก่าแก่เป็นอย่างมากโดยมีอายุประมาณ 1000 ปี คาดว่าสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 15 ซึ่งถือว่ามีความเก่าแก่มากกว่าปราสาทหินนครวัด นครธม ในประเทศกัมพูชา และปราสาทหินพนมรุ้งในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จังหวัดสุรินทร์ของเรามีประเพณีวัฒนธรรมที่เก่าแก่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้ประสาทหินพนมสวายยังไม่ได้ดำเนินการบูรณะแต่อย่างใด ยอดเขาที่ 2 พนมสรัยหรือเขาหญิง มีความสูงประมาณ 250 เมตร ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดพนมศิลาราม ในอดีตเชื่อว่ามีถ้ำมหาสมบัติอยู่บนยอดเขาลูกนี้ ซึ่งยังไม่มีผู้ใดสามารถเข้าไปในถ้ำเพื่อหาสมบัตินั้นได้และยังมีสระน้ำโบราณจำนวน 2 ลูก ที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของเต่าศักดิ์สิทธิ์จำนวน 2 ตัว ต่อมาภายหลังเกิดภัยอันตราย จึงได้พากันอพยพเพื่อที่จะลงไปอยู่ในหนองพนม ซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขาดังกล่าว แต่ในขณะที่เดินทางถึงเพียงไหล่เขาเท่านั้น ก็เกิดอาการแข็งตัวกลายเป็นเต่าหินขนาดใหญ่ 2 ตัว ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาหญิงที่ชาวบ้านในแถบนั้นให้ความเคารพบูชากราบไหว้ หากใครลบหลู่หรือขึ้นไปปีนป่ายจะทำให้เกิดภัยพิบัติแก่ตนเองและครอบครัวได้ ยอดเขาที่ 3 พนมกรอลหรือคอก เป็นที่ตั้งศาลา อัฎฐมุข ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และเป็นที่ตั้งสถูป บรรจุอัฐิหลวงปู่ดุลย์อตุโล และเป็นที่ตั้งศาลเจ้าแม่กวนอิมอีกด้วย ส่วนชื่อเขาคอกนั้นได้มาจากอดีตบนเขาลูกนี้จะมีศิลาแลงวางเรียงกันเป็นชั้นๆเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 1 เมตร ลักษณะคล้ายคอก จึงเรียกกันว่าเขาคอก ในปัจจุบันยังมีร่องรอยของศิลาแลงดังกล่าวให้เห็นอยู่บ้างและขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการบูรณะแต่อย่างใด
ในส่วนของการจัดงานประเพณีขึ้นเขาสวายประจำปี 2564 ได้ดำเนินการจัดต่อเนื่องเรื่อยมาเป็นครั้งที่ 21 เนื่องจากในปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์การระบาดโรคใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019(covid-19) อีกทั้งรัฐบาลได้ออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายโดยห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการจัดกิจกรรมในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยและความเสี่ยงรวมทั้งเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (covid-19) จึงได้จัดให้มีเพียง พิธีบวงสรวงพนมสวาย ในงานประเพณีขึ้นเขาสวายประจำปี 2564 โดยมี พ.อ. ยุสชนา ตระกูลเสนาธง เสธ.มทบ.25 เป็นผู้แทน ผบ.มทบ. 25 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดสุรินทร์ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกิจกรรมจำนวนไม่เกิน 50 คน เข้าร่วมกิจกรรม
ธนินท์ทัศน์ ภูแก้ว/สุรินทร์