In Thailand
กาฬสินธุ์ปลูกต้นไม้ประจำปีของชาติ
กาฬสินธุ์-จัดกิจกรรมวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ.2566 เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดกาฬสินธุ์ให้ได้ร้อยละ 40
ที่วัดป่าโคกกลาง บ้านโคกกลาง หมู่ที่ 3 ต.หลุบ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ พระครูจันทรธรรมานุวัตร,ดร. เจ้าคณะอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส เปิดงานกิจกรรมวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ.2566 จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายสำเริง ม่วงสังข์ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ นายประจัน ดาวังปา ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้กาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ นายสุเทพ ชัยวัฒน์ นายอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน และจิตอาสาในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม
นายประจัน ดาวังปา ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้กาฬสินธุ์กล่าวว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2532 ได้อนุมัติให้วันวิสาขบูชาของทุกปี เป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ และในปี พ.ศ.2566 ตรงกับวันที่ 6 มิถุนายน 2566 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ร่วมกับศูนย์ป่าไม้กาฬสินธุ์ และเทศบาลตำบลหลุบ จึงจัดกิจกรรมวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ.2566 ขึ้น เพื่อให้วันต้นไม้ประจำปีของชาติเป็นวันสำคัญของชาติ และประชาชนได้ร่วมกันปลูกป่า ช่วยเพิ่มพูนทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ตลอดทั้งมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว และช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน
ด้านนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า การจัดกิจกรรมวันต้นไม้ประจำปีของชาติ จ.กาฬสินธุ์ ในปีนี้ ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนในการจัดกิจกรรมจากพระครูโสตถิธรรมโสภณ ดร. เจ้าคณะตำบลกาฬสินธุ์ (ธ) เจ้าอาวาสวัดป่าโคกกลาง เทศบาลตำบลหลุบ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน โดยร่วมกันปลูกต้นไม้ในพื้นที่บริเวณวัดป่าโคกกลาง เนื้อที่ทั้งสิ้น 5 ไร่ 1 งาน กล้าไม้ที่ปลูกมีจำนวน 700 ต้น ได้แก่ ยางนา แตะเคียนทอง และประดู่
การปลูกต้นไม้ในครั้งนี้รวมพื้นที่ 5 ไร่ 1 งานเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ป่าไม้คิดเป็นร้อยละ 10 จ.กาฬสินธุ์พยายามเพิ่มพื้นที่ให้ได้ร้อยละ40 เพราะฉะนั้น จ.กาฬสินธุ์จะดำเนินปลูกป่าในทุกพื้นที่ทั้งพื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ป่าไม้ชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่วัด โรงเรียน ด้วยการนำพื้นที่ที่ไม่ได้ประโยชน์มาปลูกป่า เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้นต่อไป