In News

ศาลยธ.ร่วมNIAให้ความรู้E-commerce



กรุงเทพฯ-สำนักงานศาลยุติธรรม ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ แลกเปลี่ยนความรู้นวัตกรรม มุ่งอำนวยความสะดวกระงับข้อพิพาททางแพ่งคดีกลุ่ม E-commerce ที่มากขึ้น

วันนี้ (17 มีนาคม 2564) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรมอาคารศาลอาญา ชั้น 12 ถนนรัชดาภิเษก นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมกระบวนการระงับข้อพิพาทของศาล และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนาการสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่จะนำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมของประเทศทั้งด้านการบริหารจัดการคดี การให้บริการ และการอำนวยความสะดวกในช่องทางของกระบวนการระงับข้อพิพาทต่าง ๆแก่ผู้มีอรรถคดีและประชาชนทั่วไป

นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนมีข้อพิพาททางแพ่งที่มีสาเหตุจากการทำธุรกรรมทางพาณิชย์ (E-Commerce) มากขึ้น ประกอบกับได้มีมาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินกระบวนการระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้พัฒนากระบวนการระงับข้อพิพาทในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องซึ่งเป็นช่องทางในการยุติข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี การไกล่เกลี่ยออนไลน์ และการอนุญาโตตุลาการให้ทันสมัยและสอดคล้องต่อสถานการณ์ ทำให้ข้อพิพาทยุติลงในเวลาอันรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ที่มีข้อพิพาททางแพ่ง

ดังนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมกระบวนการระงับข้อพิพาทในรูปแบบต่าง ๆของศาล พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี การร่วมกันศึกษาวิจัยทิศทางของกฎหมายที่สำคัญในอนาคตอันเกี่ยวกับการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมแห่งชาติ รวมถึงการส่งเสริมการศึกษาวิจัยการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการภาครัฐ และการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีอรรถคดีและประชาชนทั่วไป ตลอดจนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กระบวนการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทของศาลและการอนุญาโตตุลาการ ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และประชาชนทั่วไปได้รับทราบ