In Global
'กว่างซีโมเดล' กับการพัฒนาเศรษฐกิจ แบบวงจรคู่ขนานของจีน
ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ดิฉันมีโอกาสเข้าร่วมงาน “2023 Asean Media Partners Forum” ที่จัดโดย China Media Group ร่วมกับเขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซี และทัศนศึกษาดูงานในหลายเมืองของเขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซี การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ได้เห็นตัวอย่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนที่เป็นรูปธรรมหลังสถานการณ์โควิด-19 ของเขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซีในหลายมิติ ที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง
เขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกว่างซีอยู่ทางใต้ของจีน มีประชากรประมาณ 50 ล้านคน มีพื้นที่ประมาณ 237,000 ตารางกิโลเมตร มีข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนทางบกติดกับเวียดนาม และมีพื้นที่ติดทะเลอ่าวเป่ยปู้หรืออ่าวตังเกี๋ย กว่างซีจึงเป็นประตูที่เชื่อมอาเซียน เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาระดับชาติของจีน ที่ผ่านมามีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนหลายมิติ เช่น การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ การสร้างเขตทดลองเสรีการค้าจีน(กว่างซี) เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียน รัฐบาลจีนจีงส่งเสริมการพัฒนากว่างซี ทั้งการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาการขนส่งทางบกทางทะเล สร้างศูนย์กลางการขนส่งที่ทันสมัย
อย่างที่เมืองชินโจว เมืองติดทะเลอ่าวเป่ยปู้ มีการสร้างท่าเทียบเรืออัตโนมัติแห่งแรกของจีนทีท่าเรือชินโจว โดยออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งต่อเนื่อง“รางและเรือ” มีการสร้างลานเก็บสินค้าอยู่ติดกับสถานีรถไฟ เพื่อลำเลียงสินค้าแบบไร้รอยต่อ กระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีนและส่งออกสินค้าไปยัง 120 ทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบขนส่งตู้คอนเทนเนอร์อัจฉริยะ โดยเจ้าหน้าที่สามารถสั่งการจากศูนย์ควบคุมการขนส่ง ขณะที่การลำเลียงตู้คอนเทนเนอร์ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ ใช้รถยกตู้คอนเทนเนอร์แบบไร้คนขับ ควบคุมด้วยเทคโนโลยี AI ใช้ระบบตรวจจับแสงและวัดระยะ หรือ Lidar เพื่อระบุตำแหน่งและหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ทำให้สามารถจัดการการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องพึ่งแรงงานคนเหมือนเมื่อก่อน
ส่วนอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของกว่างซี คือการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ดิฉันได้ไปที่เมืองหลิ่วโจว ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมของกว่างซี ที่นี่ถูกเรียกว่าศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก มองไปตามท้องถนนในเมืองจะเห็นรถยนต์ไฟฟ้าคันเล็กๆ วิ่งเต็มท้องถนน เพราะเมืองหลิ่วโจวยังเป็นที่ตั้งของบริษัท SAIC-GM-Wuling หรือ SGMW ซึ่งมีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับใช้ในเมือง สามารถขายรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ได้ 1 ล้านคันภายในเวลา 5 ปี ส่งออกรถยนต์ไปยัง 70 ประเทศทั่วโลก เบื้องหลังของความสำเร็จของบริษัท คือ ความพยายามพัฒนารถที่ดีที่สุดที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจาก 28 องค์กร ร่วมกันพัฒนารถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและทดสอบรถมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท และที่สำคัญคือการทำให้เมืองมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยตอนนี้หลิ่วโจวมีจุดชาร์จพลังงานไฟฟ้า 32,000 จุด มีจุดจอดรถยนต์ไฟฟ้า 18,000 แห่งทั่วเมือง เพื่อส่งเสริมให้คนเมืองใช้รถยนต์ไฟฟ้า
นอกจากการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแล้ว จีนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ อย่างที่หลิ่วโจวมีของดีที่ขึ้นชื่ออีกอย่างของเมือง นั่นก็คือ ก๋วยเตี๋ยวหลัวซือเฝิ่น หรือ ก๋วยเตี๋ยวหอยขม ที่ผ่านมาทางการเมืองหลิ่วโจวยกระดับก๋วยเตี๋ยวหลัวซือเฝิ่น จากอาหารท้องถิ่นให้กลายเป็นอาหารที่คนจีนทั่วประเทศรู้จักและส่งขายไปทั่วโลก จนกลายเป็นอุตสาหกรรมบะหมี่ครบวงจรมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ดิฉันได้ไปเยี่ยมชมโรงงานทำหลัวซือเฝิ่นแห่งหนึ่งในหลิวโจว ที่มีกระบวนการผลิตบะหมี่สำเร็จรูปที่ทันสมัย มีการวิจัยและผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า การผลิตก็มีการใช้ระบบอัตโนมัติช่วยในการผลิตหลายขั้นตอนเพื่อขายบะหมี่หอยขมไปทั่วประเทศและต่างประเทศ จึงไม่แปลกใจที่วันนี้หลัวซือเฝิ่นกลายเป็นอาหารที่มีคุณค่าและสร้างมูลค่าให้กับหลิ่วโจวอย่างมาก
การพัฒนาเศรษฐกิจในหลายๆ ด้านของกว่างซีจึงเป็นตัวอย่างที่สะท้อนภาพของการดำเนินตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจวงจรคู่ขนานของจีนด้วยการให้ความสำคัญกับการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นบทเรียนและกรณีศึกษาให้กับเมืองอื่นๆ นำมาปรับใช้ต่อไป
-----------------------------
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย