In Bangkok
กทม.ติวเข้มหลักสูตรบัญชาการเหตุการณ์ สำหรับผู้อำนวยการเขต'การประสานงาน'
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯทวิดา ร่วมเยี่ยมชมการฝึกอบรมหลักสูตรการบัญชาการเหตุการณ์ สำหรับผู้อำนวยการเขต สื่อสาร ประสานงานแจ้งเตือน ได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดสาธารณภัย
(24 มิ.ย.66) เวลา 09.00 น. รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นเกียรติตรวจเยี่ยมการฝึกอบรมหลักสูตรการบัญชาการเหตุการณ์สําหรับผู้อำนวยการท้องถิ่น โดย นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ ห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เขตดุสิต
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีศักยภาพ แต่ศักยภาพถูกใช้ได้ไม่เต็มที่และไม่ได้ทำอย่างเป็นระบบ เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยขึ้น เช่น อัคคีภัย เราจะมุ่งเน้นในเรื่องดับเพลิงอย่างเดียวเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นการเกิดอัคคีภัย บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ มีการติดต่อไปที่กรุงเทพมหานคร เพื่อประสานเรื่องที่พักพิงผู้ประสบภัย ซึ่งประสบปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างพื้นที่ ทำให้ขาดการตัดสินใจของผู้บัญชาการเหตุการณ์ และการสื่อสารไปสู่ประชาชน วันนี้เราจึงมาเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการที่ควรจะเป็นสำหรับผู้อำนวยการเขต ซึ่งจะเป็นผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยในพื้นที่ที่เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้นต้องเป็นผู้ประสานทุกหน่วยงาน อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา การขอใช้เงินทดรองราชการเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน การออกสำรวจจำนวนครัวเรือนที่ประสบสาธารณภัย
สำหรับในส่วนของกทม. ปีนี้จะเป็นการพัฒนาการประสานความร่วมมือทุกหน่วยงานในการป้องกันสาธารณภัยในกรุงเทพฯ ผู้อำนวยการเขตสามารถใช้กล้อง CCTV ของสำนักการจราจรและขนส่งในการดูระดับน้ำท่วมแบบ Real Time สามารถทราบระดับน้ำฝนล่วงหน้าได้ 1-2 ชั่วโมง การสร้างแผนที่อาคารสูงในพื้นที่เขตที่อาจได้รับผลกระทบจากเขตแผ่นดินไหวซึ่งรองผู้ว่าฯ วิศณุ กำลังเชื่อมพัฒนาระบบทั้งหมดอยู่ รวมถึงวันนี้กทม.จะประสานความร่วมมือกับ ปภ.ในการเชื่อมโยงข้อมูลใช้งาน Line Alert เพื่อเตือนเหตุแผ่นดินไหว พายุ และทุกสาธารณภัยที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯ เพื่อสื่อสารและแจ้งเตือนไปถึงประชาชนลดความตื่นตระหนกและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน นอกจากนี้หลักสูตรในวันนี้จะครอบคลุมการฝึกอบรมไปถึงผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายปกครอง เพื่อจะได้รับทราบหน้าที่และอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเกิดเหตุสาธารณภัย รวมถึงการบัญชาการร่วมกับหน่วยงานอื่น
"การสื่อสารในภาวะวิกฤตเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดของผู้อำนวยการเขตในฐานะผู้บัญชาการ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับที่ 1 เนื่องจากถ้าสื่อสารไม่รู้เรื่อง จะเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง นอกจากนี้ผู้อำนวยการเขตยังสามารถสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นสำนักการโยธา สำนักอนามัย เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยได้ " รศ.ทวิดา กล่าว
อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวว่า สถานการณ์สาธารณภัยในปัจจุบันมีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยมีแผนการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 - 2570 เป็นกรอบแนวทางในการจัดการสาธารณภัยของประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรการบัญชาการเหตุการณ์สำหรับผู้อำนวยการท้องถิ่น และผู้อำนวยการเขตสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในบทบาท อำนาจหน้าที่ ภารกิจ เข้าใจระบบ บัญชาการเหตุการณ์ สามารถประยุกต์ใช้หลักการบัญชาการเหตุการณ์ในการจัดการเหตุการณ์ในพื้นที่เกิดเหตุและองค์กรปฏิบัติในการจัดการภาวะฉุกเฉิน รวมถึงเข้าใจบทบาทหน้าที่ของผู้บัญชาการ เหตุการณ์ รวมทั้งสามารถวางแผนและจัดทำแผนเผชิญเหตุในการจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ ให้สามารถขับเคลื่อนงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทาง เดียวกัน มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย แนวทางการจัดการ สาธารณภัยในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ประสบภัย และร่วม เป็นเครือข่ายในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตกรุงเทพมหานคร การสนธิกำลังกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการสาธารณภัยได้อย่างมีเอกภาพ อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการหลักสูตรการบัญชาการเหตุการณ์สำหรับผู้อำนวยการท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้พื้นฐาน เข้าใจระบบบัญชาการเหตุการณ์ สามารถประยุกต์ใช้หลักการบัญชาการเหตุการณ์ในการจัดการเหตุการณ์ในพื้นที่เกิดเหตุและองค์กรปฏิบัติในการจัดการภาวะฉุกเฉิน เข้าใจบทบาทหน้าที่ของผู้บัญชาการเหตุการณ์ รวมทั้งสามารถวางแผนและจัดทำแผนเผชิญเหตุในการจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้อำนวยการเขต จำนวน 45 คน ผู้บริหารสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 9 คน รวมทั้งสิ้น 54 คน