In Bangkok

กทม.เข้ม!!จับปรับผู้ขี่รถจยย.บนทางเท้า จับมือบ.เอกชนจัดหนักRiderฝ่าฝืน



กรุงเทพฯ-นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวถึงอัตราค่าปรับผู้ฝ่าฝืนจอด หรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม.ได้ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งติดป้ายประกาศเตือนให้ทราบว่า การจอด หรือขับขี่รถบนทางเท้าเป็นความผิดตามมาตรา 17 (2) แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท มาโดยตลอด แต่ยังมีผู้ฝ่าฝืนขับขี่รถบนทางเท้า สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้ทางเท้า บางรายทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้ใช้ทางเท้า บางรายขับรถเฉี่ยวชนผู้ใช้ทางเท้าได้รับบาดเจ็บ เป็นอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สิน โดย กทม.ได้กำหนดมาตรการปรับผู้ฝ่าฝืนในอัตราขั้นต่ำ 500 บาท แต่ยังมีผู้ฝ่าฝืนไม่เกรงกลัว จึงกำหนดอัตราค่าปรับสูงขึ้น เป็นเงิน 1,000 บาท และ 2,000 บาท ตามลำดับ หากผู้ขับขี่รายใดก่อเหตุทำร้ายร่างกาย ทะเลาะวิวาท หรือเฉี่ยวชนผู้ใช้ทางเท้า ต้องถูกปรับในอัตราสูงสุด 5,000 บาท ขณะเดียวกัน สนท.ได้กำหนดมาตรการเชิงรุกจับ - ปรับอย่างจริงจัง โดยจัดทำโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์จอด หรือขับขี่บนทางเท้า ซึ่งบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจทั้ง 50 สำนักงานเขต ตั้งจุดตรวจจับ - ปรับในพื้นที่ โดยระหว่างเดือน ก.ค.61 - 23 มิ.ย.66 จับกุมผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดจอด หรือขับขี่แล้ว 49,252 ราย ปรับเป็นเงิน 54,029,000 บาท

นอกจากนั้น กทม.ยังได้เริ่มใช้กล้องวงจรปิด (AI CAMERA) ติดตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อตรวจจับรถที่ขับขี่บนทางเท้า โดยเชื่อมต่อกับกรมขนส่งทางบก เพื่อให้ทราบตัวผู้ที่เป็นเจ้าของรถที่กระทำความผิด จากนั้นสำนักงานเขตจะมีหนังสือแจ้งให้เจ้าของรถมาชำระค่าปรับ ขณะเดียวกันได้สร้างความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทรับ-ส่ง อาหาร หรือสินค้า (Rider) เพื่อกำหนดมาตรการลงโทษสมาชิกที่ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้า ส่วนกลุ่มรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ หากถูกปรับฐานวิ่งบนทางเท้า 3 ครั้งใน 1 ปี จะถูกเพิกถอนรายชื่อจากบัญชีผู้ขับขี่วินรถจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งจะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งหมดเป็นมาตรการสำคัญ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นระเบียบเรียบร้อย ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินและการขับขี่ยวดยานพาหนะจะต้องเป็นไปตามกฎจราจรโดยเคร่งครัด