In Bangkok
กทม.สั่งเพิ่มติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ
กรุงเทพฯ-เพิ่มประสิทธิภาพการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ลดผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชน
(27 มิ.ย. 66) นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำคู่มือปฏิบัติงานด้านการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายอาฤทธิ์ ศรีทอง นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกลุ่มเขต 6 กลุ่มเขต ได้แก่ กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ และกลุ่มเขตกรุงธนใต้ ผู้แทนจากสำนักการโยธา และผู้แทนสำนักงานกฎหมายและคดี ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 1 สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
คณะทำงานจัดทำคู่มือปฏิบัติงานด้านการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 1255/2566 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านการติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน ระยะก่อสร้างและระยะดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยในที่ประชุมได้แจ้งอำนาจหน้าที่ของคณะทำงาน ดังนี้ 1.รวบรวมข้อมูล ปัญหา และอุปสรรคในการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างอาคารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2.จัดทำเนื้อหาของคู่มือการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานคร 3.ตรวจสอบกลั่นกรองรูปแบบและความถูกต้องของคู่มือการปฏิบัติงานฯ (Work Manual) ให้เป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด และเสนอปลัดกรุงเทพมหานครเพื่อขอความเห็นชอบสั่งการให้นำคู่มือไปใช้ในการปฏิบัติ และ 4.เวียนแจ้งคู่มือการปฏิบัติงาน ฯ ให้สำนักงานเขตทราบ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักสิ่งแวดล้อมต่อไป
สำหรับการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน (Work Manual) เพื่อเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพของปฏิบัติงานในการควบคุม กำกับดูแล และติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการกำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ในระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ โดยการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันให้เกิดความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนแผนที่บอกเส้นทางการปฏิบัติงานว่าควรปฏิบัติอย่างไร เมื่อใด และสามารถใช้อ้างอิงในการปฏิบัติงาน โดยครอบคลุมขั้นตอนตั้งแต่การได้รับรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบข้อมูลการจัดส่งรายงานการพิจารณารายงาน การตรวจประเมินความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล พร้อมทั้งแจ้งผลการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้หน่วยงานอนุญาต (สำนักการโยธา และฝ่ายโยธาในสำนักงานเขต) กำกับดูแลให้เจ้าของโครงการหรือนิติบุคคลอาคารชุดปฏิบัติตามมาตรการฯ ตามกฎหมายและระเบียบ ข้อบังคับ โดย EIA Monitoring จะพิจารณามาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครบทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านทรัพยากรกายภาพ ด้านทรัพยากรชีวภาพ ด้านคุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และด้านคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งนอกจากจะทำให้การติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสามารถบังคับใช้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารเป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีประสิทธิภาพแล้ว ยังลดปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกด้วย