In Bangkok

ผู้ว่าฯกทม.สัญจรสนง.ตรวจสอบภายใน เล็งนำใช้เทคโนฯควบคู่พัฒนาองค์ความรู้



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯ สัญจร สำนักงานตรวจสอบภายใน หัวใจคือความโปร่งใสและความมีประสิทธิภาพ เล็งนำเทคโนโลยีมาใช้ ควบคู่การพัฒนาองค์ความรู้

(27 มิ.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักงานตรวจสอบภายใน (สตน.) สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  สำนักงานตรวจสอบภายใน เป็นหน่วยงานที่สำคัญในการตรวจสอบ ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพในการดำเนินงานและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครว่ากระบวนการต่าง ๆ ครบถ้วนตามระเบียบปฏิบัติหรือไม่ โครงการต่าง ๆ ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าหรือไม่ โดยมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 60 คน มีหน่วยรับตรวจ 750 แห่งในความรับผิดชอบ แบ่งได้ดังนี้ การบริหารการคลังและการพาณิชย์ การสาธารณสุข การสาธารณูปโภคและป้องกันภัย สังคมและสิ่งแวดล้อม การศึกษา สำนักงานเขต 1 (กลุ่มกรุงเทพเหนือ กลุ่มกรุงเทพตะวันออก และกลุ่มกรุงเทพกลาง) สำนักงานเขต 2 (กลุ่มกรุงเทพใต้ กลุ่มกรุงธนเหนือ และกลุ่มกรุงธนใต้) และพิเศษ (ติดตามผลตามข้อสั่งการของผู้บริหารกทม. ติดตามผลตามข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และภารกิจอื่นที่ได้รับมอบหมาย) ซึ่งถือเป็นภาระที่หนัก เพราะกทม.มีหน่วยย่อยจำนวนมาก การทำงานตรวจสอบภายในจึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในความโปร่งใส จึงได้ให้นโยบายไปดังนี้ 

    * เรื่องที่ 1 ให้ใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น เพื่อให้เราตรวจสอบได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบ 
    * เรื่องที่ 2 ฝ่ายตรวจสอบต้องมีความพร้อม เพราะงานหลายอย่างของกทม.เป็นเชิงเทคนิคสูง เช่น สมมุติว่าเราจะไปตรวจสอบเรื่องอุโมงค์ระบายน้ำ เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีความเข้าใจพื้นฐานในหลักวิศวกรรม ซึ่งสำนักงานตรวจสอบภายในได้ร้องขอให้มีผู้เชี่ยวชาญมาสนับสนุน ดังนั้น ทางส่วนกลางก็จะสนับสนุนเรื่องเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้นมากขึ้น 
    * เรื่องที่ 3 หน่วยรับตรวจต้องมีความเข้าใจในเรื่องระบบบัญชี ฉะนั้น ทางส่วนกลางต้องมีการอบรมให้ความรู้แก่หน่วยรับตรวจ เพื่อให้เข้าใจวิธีการลงบัญชีทรัพย์สินต่าง ๆ และทำให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
    * เรื่องที่ 4 นอกจากเรื่องความโปร่งใส ต้องเน้นเรื่องประสิทธิภาพในการให้บริการด้วย เพราะประชาชนคาดหวังประสิทธิภาพในการให้บริการว่าตอบสนองกับความต้องการได้เร็วแค่ไหน ดังนั้น ในการลงไปตรวจ นอกจากจะตรวจสอบเรื่องการเงินแล้ว ต้องตรวจสอบในมิติการให้บริการประชาชนว่าหน่วยงานของเราทุจริตเวลาให้บริการประชาชนหรือไม่ แต่ต้องดูด้วยว่ากำลังพลเพียงพอหรือไม่ด้วย ซึ่งส่วนกลางคงต้องให้ความช่วยเหลือทั้งด้านกำลังพลและด้านเทคโนโลยี

“ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเดินหน้า เพราะหัวใจสำคัญที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนคือบุคลากรทั้ง 80,000 คน ของกทม.ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้บริการมีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า  การตรวจสอบภายในไม่ใช่การจับผิด เป็นการตรวจเพื่อให้คำแนะนำและเชิงป้องกัน ดังนั้น ความร่วมมือในการดำเนินการทั้งผู้รับตรวจและผู้ตรวจ ต้องเป็นความสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมา และเป็นไปอย่างถูกต้องตามที่ควรจะเป็น อะไรที่ต้องแก้ไขปรับปรุงทางหน่วยตรวจก็จะแจ้งไปตามลำดับขั้น หน่วยรับตรวจก็จะต้องไปศึกษาแล้วดำเนินการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า แล้วก็สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมกรณีสัดส่วนผู้ตรวจ 60 คน ต่อ 750 หน่วยงาน ครอบคลุมหรือไม่ ว่า  จริง ๆ แล้วยังมีอัตราที่ขาดอีก 8 อัตรา มี 2 แนวต้องพิจารณา คือ กรอบอัตราที่เหมาะสม และบางส่วนอาจจะต้อง Outsource เพราะว่าเป็นเรื่องเทคนิค เช่น การตรวจเรื่องรายละเอียดโรงกำจัดน้ำเสีย ต้องมีเทคนิคหรือผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ บางส่วนอาจต้อง Outsource จากหน่วยงานภายนอก เช่น วิศวกรรมสถาน ขณะเดียวกันพื้นฐานที่จำเป็นก็ต้องมีให้พอ จึงต้องเร่งบรรจุอัตราที่ยังขาดอยู่ แต่สิ่งสำคัญมาก ๆ ในอนาคต คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะถ้าทุกส่วนสามารถเข้าสู่ Digital Platform ได้ เช่น การบันทึกข้อมูลพื้นฐานเป็นดิจิทัลทั้งหมด การตรวจสอบจะทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องมานั่งดูเอกสารทีละแผ่น หากสามารถใช้ระบบ AI มาช่วยตรวจสอบเอกสารก็จะช่วยคนในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เชื่อว่าการแก้ปัญหาในระยะยาวไม่ใช่การเพิ่มคนแต่เป็นการเพิ่มเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งฝ่ายรับตรวจก็ต้องมีดิจิทัลด้วย เช่น การบันทึกทรัพย์สินให้อยู่ในระบบดิจิทัล สามารถแทร็กได้ การทำสัญญาเป็น Open Data ให้หมด อยู่ที่นี่ก็สามารถตรวจได้ การใช้เทคโนโลยีจะทำให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

อนึ่ง ในวันเดียวกันนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้มีการพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบ รับฟังปัญหา/อุปสรรคในการทำงานและปัญหาส่วนตัว รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ พร้อมให้กำลังใจในการทำงานผ่านการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันกับผู้แทนจากสำนักงานตรวจสอบภายใน จำนวน 5 คน ได้แก่ นายยุรนันท์ จกโป พนักงานขับรถยนต์ ส 1 ฝ่ายบริหารงานทั่วไป นางสาวสุคนธ์ทิพย์ เมืองช้าง นักวิชาการตรวจสอบภายในปฏิบัติการ กลุ่มงานตรวจสอบสำนักงานเขต 1 ส่วนตรวจสอบภายใน 2 นายเทวัญ รอดดอน นักวิชาการตรวจสอบภายในชำนาญการ กลุ่มงานตรวจสอบการสาธารณูปโภคและป้องกันภัย ส่วนตรวจสอบภายใน 1 นางสาวฉวีวรรณ มิตตะกา นักวิชาการตรวจสอบภายในชำนาญการ กลุ่มงานตรวจสอบการศึกษา ส่วนตรวจสอบภายใน 2 และนายพงพันธุ์ ชื่นอารมณ์ นักวิชาการตรวจสอบภายในชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานพัฒนางานตรวจสอบภายใน โดยรายการอาหารประกอบด้วย สุกี้แห้ง เผือกทอด และทับทิมกรอบ สำหรับการรับประทานอาหารร่วมกันนั้น เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ที่ตอกย้ำการให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ