In Bangkok
รองผู้ว่าฯกทม.ร่วมปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับ ภัยแล้งและน้ำท่วม
กรุงเทพฯ-(28 มิ.ย. 66) รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง Floods Droughts and the Future of Bangkok (อุทกภัย ภัยแล้ง และอนาคตของกรุงเทพมหานคร) ในงานเปิดตัวรายงานธนาคารโลก ตามติดเศรษฐกิจไทย มิถุนายน 2566: การรับมือกับภัยแล้งและน้ำท่วม ณ ห้องประชุม Auditorium ชั้น 2 อาคาร 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน
สำหรับในวันนี้ ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้กล่าวต้อนรับ ดร.ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เป็นผู้กล่าวเปิดงาน จากนั้นเป็นการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้งของประเทศไทย” โดย นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เรื่อง “อุทกภัย ภัยแล้ง และอนาคตของกรุงเทพมหานคร” โดย รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง “การฝ่าแรงต้านของเศรษฐกิจโลก: การพัฒนาและแนวโน้มเศรษฐกิจไทย” โดย ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก เรื่อง “การรับมือกับอุกทกภัยและภัยแล้งในประเทศ” โดย ดร.เชลลี แม็คมิลลาน ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำอาวุโส ธนาคารโลก
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมื่อกล่าวถึงภาวะวิกฤติ เวลาที่วิกฤติเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก การบริหารจัดการจึงควรที่จะสามารถยืดหยุ่นได้ ทุกพื้นที่สามารถเห็นกันและกันแล้ววางแผนร่วมกันได้
กรุงเทพมหานครได้จดทะเบียนเข้าสู่ MCR (Making Cities Resilient) เพื่อเป็นเมืองที่มีความยืดหยุ่น โดยประเมินผลตัวเองไว้ที่ 52 คะแนน จาก 100 คะแนน แปลว่ายังมีงานอีกเยอะที่ต้องทำ ซึ่งภายใน 3 ปีนี้ เราต้องการให้ทุกคนช่วยเรา โดยทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกคนเข้าใจว่าเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคน
ในการวางแผนเรื่องน้ำ กรุงเทพมหานครได้นำระบบเทคโนโลยี เช่น AI หรือระบบ IoT (Internet of Things) เข้ามาใช้ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการและการรายงานให้ประชาชนทราบ อาทิ มีเรดาร์น้ำฝน ซึ่งสามารถจับกลุ่มฝนที่จะมาถึงกรุงเทพมหานครภายในเวลาประมาณ 1 - 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยรายงานให้ประชาชนทราบเพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางได้ มีเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำตามท่อระบายน้ำ/ถนนสายหลัก รวมถึงมีการปรับกล้อง CCTV ให้สามารถเห็นระดับน้ำบนพื้นถนนเมื่อเกิดฝนตก ซึ่งจะทำให้สามารถคาดการณ์ระยะเวลาในการระบายน้ำได้ มีการนำจุดเสี่ยงน้ำท่วม 737 จุด ขึ้นบนแผนที่ความเสี่ยงกรุงเทพมหานคร (BKK Risk Map) เพื่อเจ้าหน้าที่ติดตามแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องตรงจุด และประชาชนสามารถติดตามได้ว่าพื้นที่ที่ตนอยู่มีความเสี่ยงหรือไม่ เป็นต้น ในเรื่องของภัยแล้ง กรุงเทพมหานครได้มีฝายดักน้ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงยังได้มีการสนับสนุนเครื่องบดอัดฟาง เพื่อป้องกันการเผาที่อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมา นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการน้ำร่วมกับจังหวัดข้างเคียงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย
“ในท้ายที่สุดนี้ หัวใจในการบริหารจัดการเรื่องน้ำคงไม่พ้นเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ คือทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกฝ่ายเห็นภาพรวมทั้งหมดร่วมกัน แล้วจัดสรรอย่างยุติธรรม มองเห็นจุดอ่อน เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และลำดับความสำคัญตามที่ควรจะเป็น” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ช่วงท้ายของงานเป็นการเสวนา โดย ผศ.ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชูชาติ สายถิ่น รองประธานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายแอนโธนี วาตานาเบะ Chief Sustainability Officer บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินการเสวนาโดย นายขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกประจำประเทศไทย