In Thailand

รพ.สงขลาพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งโรงเรียน



สงขลา-โรงพยาบาลสงขลา ส่งชุดปฏิบัติการพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายและแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งโรงเรียน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออกในโรงเรียน หลังพบเด็กนักเรียนป่วยโรคไข้เลือดออกเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสงขลา จำนวน 2 ราย

วันนี้  29 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น.ที่ โรงเรียนอนุบาลสงขลา เขตเทศบาลนครสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา ชุดปฏิบัติการพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย โรงพยาบาลสงขลา ได้ออกปฏิบัติการพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ในโรงเรียนอนุบาลสงขลา โดยนำเครื่องพ่นฯ 3 เครื่อง กระจายกันพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย ทั่วบริเวณโดยรอบ อาคารเรียนทุกอาคาร ทุกชั้น ทุกห้อง เรียนทั้งโรงเรียน เพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออกในโรงเรียน

หลังจาก ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนชลาทัศน์ ได้รับแจ้งจาก โรงพยาบาลสงขลา ว่า มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสงขลา จำนวน 2 ราย โดยในวันที่ 23 มิถุนายน 2566 จำนวน 1 ราย อยู่ ม.8 ต.เขารูปช้าง  และวันที่ 25 มิถุนายน 2566 อีก 1 ราย  อยู่ชุมชนสระเกษ  ผู้ป่วยทั้ง 2 ราย เป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนอนุบาลสงขลา เรียนอยู่ชั้น  ป.1/2 และชั้น ป.4/2 ซึ่งโรงเรียนอนุบาลสงขลาเป็นเขตพื้นที่รับผิดชอบของ ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนชลาทัศน์ และทาง ศูนย์บริการสาธารณสุขชุมชนชลาทัศน์ ได้ประสานกับทางโรงเรียนเพื่อดำเนินการพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย พร้อมกับสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงเรียน  ในวันนี้ (ที่ 29 มิ.ย.66) เพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออกในโรงเรียน

สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดสงขลา ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2566 ถึง 21 มิถุนายน 2566 มีการรายงานผู้ป่วยสะสม 1,583 รายเป็นชาย 824 รายเป็นผู้หญิง 759 ราย เสียชีวิตสะสม 2 ราย

ในเดือนมกราคม จำนวน 245 ราย เดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 226 ราย เดือนมีนาคม 256 ราย เดือนเมษายน จำนวน 231 ราย เดือนพฤษภาคม จำนวน 297 รายและเดือนมิถุนายน จำนวน 328 ราย สำหรับพื้นที่ 5 อำเภอ ที่มีอัตราผู้ป่วยสูงสุดประกอบด้วย อำเภอสะเดา อำเภอหาดใหญ่ อำเภอเมืองสงขลา อำเภอสทิงพระและอำเภอจะนะ

สำหรับอาการผู้ป่วยไข้เลือดออก จะมีไข้สูงลอย ปวดศรีษะ อาเจียน หายใจเหนื่อยหอบ ปวดกล้ามเนื้อ ไอ น้ำมูก เจ็บคอและมีจุดเลือดตามตัว

ส่วนการป้องกัน 3 เก็บป้องกัน 3 โรค โรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลายและโรคติดเชื้อไวรัสชิกา  การป้องกัน 3 เก็บก็คือ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง ไม่ให้ยุงเกาะ ฟัก เก็บน้ำปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ภาชนะที่ปิดไม่ได้ ให้เปลี่ยนบ่อยๆ/เทน้ำทิ้ง และเก็บขยะที่อาจเป็นแหล่งน้ำขังไม่ให้ยุงวางไข่ได้

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / สงขลา