In Thailand

เปิดโครงการไกล่เกลี่ยทั่วไทย ร่วมใจสานสันติ



กาญจนบุรี-อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ลงพื้นที่กาญจนบุรี เปิดโครงการ “ ไกล่เกลี่ยทั่วไทย ร่วมใจสานสันติ” ลดความรุนแรงในเด็กและเยาวชน พบสาเหตุเกิดจากสื่อโซเชียล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ที่โรงเรียนวิสุทธรังสี ตำบลท่าล้อ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี จัดโครงการไกล่เกลี่ยทั่วไทย ร่วมใจสานสันติ กิจกรรมอบรมผู้ไกล่เกลี่ยรุ่นเยาว์ ให้แก่นักเรียนโรงเรียนวิสุทธรังษี พร้อมด้วยมอบป้ายเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำโรงเรียน โดยมี นายบุญชัย กริชชาญชัย อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการดังกล่าว และมอบป้ายศูนย์ไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ โดยมีนางสาวฉายลักษณ์  ผิรังคะเปาระ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้กล่าวรายงาน ถึงโครงการดังกล่าว
   

สำหรับการบรรยายในหัวข้อ กฎหมายที่ผู้ไกล่เกลี่ยรุ่นเยาว์ควรรู้  โดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี จะเป็นผู้บรรยายหัวข้อ วิธีการและเทคนิคในการไกล่เกลี่ย  ส่วนในหัวข้อพิพาทจะมี นางสายพร  อินทนินท์ ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี
ส่วนการบรรยายและสาธิตการไกล่เกลี่ยจำลอง โดยนางกัลยากร  จงสกุล ผู้ประนีประนอมประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี และนางสาวสิธยา  อนุสนธิ์ นักจิตวิทยาชำนาญการพิเศษ พร้อมทั้งให้นักเรียนฝึกปฏิบัติเป็นผู้ไกล่เกลี่ยรุ่นเยาว์โดยคณะผู้ประนีประนอมประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี
เป็นพิธีกรบรรยายให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมอบรมกว่า 100 คน โดยมีนายหงษ์ดี ศรีเสน ผู้อำนวยการโรงเรียนวิสุทธรังษี เป็นผู้รับมอบป้ายศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำโรงเรียนวิสุทธรังษี

ซึ่งการจัดโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการระงับข้อพิพาทความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา หรือในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนเพื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท อีกทั้งยังเป็นการประสานความร่วมมืออันดีระหว่างศาลยุติธรรมกับสถาบันการศึกษา อันเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม พ.ศ. 2565-2568 
ยุทธศาสตร์ T เชื่อมั่นศรัทธาการอำนวยความยุติธรรม ( Trusted Justice ) ส่งเสริมและสนับสนุนเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงประโยชน์ของการไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาท และตามนโยบายประธานศาลฎีกา ข้อ 3 รับใช้ประชาชนมุ่งยกระดับการอำนวยความยุติธรรมและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
     

โอกาสนี้ นายบุญชัย กริชชาญชัย อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 เปิดเผยว่า " โครงการไกล่เกลี่ยทั่วไทย ร่วมใจสานสันติ เป็นโครงการของศาลเยาชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีผู้พิพากษาสมทบเป็นผู้ดำเนินโครงการแล้วนำไปปรึกษากับหัวหน้าจึงเป็นที่มาของโครงการดังกล่าว จุดประสงค์เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาและในสถานที่ต่างๆ และเพื่อให้เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมอบรมมีความรู้ความเข้าใจว่าประโยชน์ของการไกล่เกลี่ย ประโยชน์ของการที่ได้มีการตกลงประนีประนอมกันนั้นมีความสำคัญอย่างไร โดยจะทำให้เด็กที่ได้รับการอบรมไม่มีความรุนแรง เพราะจะได้ทราบว่าเหตุที่เกิดความรุนแรงมันไม่มีประโยชน์และจะต้องทำอย่างไร

ถามว่าปัจจุบันการสื่อสารของเด็กและเยาวชนทางโลกโซเชียลเป็นสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงก็อยากจะฝากว่า ในกลุ่มโซเชียลต่างๆต้องแยกเพราะกลุ่มโซเชียลนั้นมีอยู่มากมาย ซึ่งคนที่เล่นโซเชียลจะต้องพิจารณาว่าหากเราจะไลน์ในกลุ่มนั้นๆจะต้องดูจุดประสงค์ของทุกคนที่เข้ามาร่วมในกลุ่มอยู่ในกลุ่มไลน์ประเภทไหน ดังนั้นความเหมาะของการใช้ถ้อยคำต่างๆจะต้องส่งข้อความในไลน์ให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ของกลุ่มนั้นๆ เพราะหากส่งข้อความที่ไม่เหมาะสมลงในไลน์แล้วอาจจะมีผู้คนแคปข้อความดังกล่าวส่งต่อไปยังกลุ่มต่างๆได้ หรือแม้กระทั่งการถ่ายภาพก็เช่นเดียวกัน เรื่องนี้ผมได้บอกกับน้องๆไปว่าหากจะถ่ายภาพที่ไหนหรือถ่ายกับใครก็ขอให้ส่งกล้องให้เขาถ่ายให้ดีกว่า เพราะหากใช้กล้องของคนอื่นถ่ายให้เราไม่รู้ได้เลยว่าภาพดังกล่าวจะถูกนำไปเผยแพร่ที่ไหนบ้าง จึงอยากจะฝากให้ข้อคิดว่าทำได้แต่ต้องอยู่ในกรอบที่พอสมควร และต้องดูให้ดีว่ากลุ่มไลน์ในแต่ละกลุ่มนั้นมีจุดประสงค์อะไรและจะต้องไม่ไปล่วงละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นหรือแม้กระทั่งการใช้คำหยาบก็อย่าได้ไปโพสต์ลงในกลุ่มไลน์เพราะอาจจะเกิดความรุนแรงในภายหลังได้

ด้าน นางสาวฉายลักษ์ ผิรังคะเปาระ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า สำหรับ “โครงการไกล่เกลี่ยทั่วไทย ร่วมใจสานสันติ” อยู่ในส่วนของศาล ซึ่งศาลมองว่าเด็กและเยาวชนเป็นบุคลากรที่สำคัญและเราไม่ควรประมาทความรู้ความสามารถของเด็ก เพราะทุกวันนี้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆของสื่อโซเชียลหรือสื่ออิเลคโทนิคได้อย่างมากมาย เราจึงคิดว่าถ้าตัวเด็กและเยาวชนเข้าถึงสื่อโซเชียล ไปในทางที่ถูกเขาก็จะเป็นกำลังที่สำคัญของเราและจะนำไปสังคมที่ดีในส่วนรวม
ซึ่งปัจจุบันปัญหาความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งหากเราต้องการให้เด็กและเยาวชนยุติความรุนแรงด้วยตนเองด้วยวิธีที่เขาคิดว่าถูกมันอาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคมได้ ซึ่งศาลถือว่าเป็นองค์กรหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยให้เด็กและเยาวชนได้มีความรู้มีความเข้าใจที่ถูกต้องได้ว่าสิ่งที่เขาจะแก้ปัญหาในเบื้องต้นว่าสิ่งที่ถูกจะต้องไปในทิศทางไหนและจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อส่วนรวมด้วย โดยเฉพาะในตัวของเด็กและเยาวชนซึ่งเขาจะได้มีความเข้าใจ จึงเป็นที่มาของการจัด“โครงการไกล่เกลี่ยทั่วไทย ร่วมใจสานสันติ”ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้มาจัดให้กับโรงเรียนวิสุทธรังษีในครั้งนี้ และหากการจัดโครงการดังกล่าวได้ผลลัพธ์ที่ดี เด็กๆที่เข้าอบรมก็จะได้บอกต่อๆกันไปซึ่งจะทำให้ความรุนแรงในสังคมก็จะลดลง
สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี นั้นมีสาเหตุแทบจะครบในทุกๆเรื่องด้วยกันได้แก่การทะเลาะวิวาทกันในเบื้องต้น สาเหตุอาจจะเกิดจากการใช้สื่อโซเชียล ไปในทางที่ผิด เด็กและเยาวชนบางรายไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุแต่ถูกชักชวนไปก่อเหตุหรือไปก่อการกระทำความผิดอย่างเช่นใช้เด็กไปเป็นบัญชีม้าซึ่งนำไปสู่การช่อโกงในรูปแบบที่แพร่กระจายได้

   

ดังนั้น ศาลจึงฝากไปถึงผู้ปกครองว่าความใกล้ชิดกับบุตรหลานเป็นเรื่องที่สำคัญ การที่เด็กจะทำอะไรก็ตามซึ่งเด็กในแต่ละวัยอาจจะมีความแตกต่างกันเด็กและเยาวชนบางวัยอาจจะติดเพื่อนแต่เราก็ไม่สามารถที่จะไปห้าวทุกคนได้เพราะเด็กมีสิทธิ์และมีเสรีภาพของเขา ผู้ปกครองก็ควรดูอย่างใกล้ชิดและระมัดระวัง และอย่างไปขัดแย้งกับความคิดของเขา เพราะน้องๆทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิดในรูปแบบของเขาด้วยความที่วัฒนธรรมทางสังคมมันเปลี่ยนไป ซึ่งเราต้องยอมรับและต้องเชื่อมั่นในความคิดของลูกหรือบุตรหลานทุกคน 

ส่วนนักเรียนหญิงที่ร่วมโครงการ ไกล่เกลี่ยทั่วไทย ร่วมใจสานสันติ จำนวน 2 ราย ได้กล่าวว่า การมาเข้าร่วมโครงการเพื่อจะได้นำความรู้ไปปรับใช้ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงเรื่องในยุคปัจจุบันการใช้อุปกรณ์ในยุคโลกโซเชียลต้องใช้ทักษะระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น อย่าแชร์ข่าวปลอม หรือการตอบโต้กับผู้อื่นต้องไม่ใช้ความรุนแรง และในช่วยนี้การใช้ความรุนแรงกับเด็กๆ ต้องฝากไปถึงผู้ปกครอง ต้องมีความเข้าใจถึงเด็กๆ ไม่ตีลูกหรือดุด่าด้วยความรุนแรงกับเด็กๆ ต้องฝากไปถึงผู้ปกครอง ต้องมีความเข้าใจถึงเด็กๆ ไม่ตีลูก หรือดุด่าด้วยความรุนแรง ต้องเปลี่ยนเป็นคำพูดที่อ่อนโยนมากๆ

สนั่น-กาญจนบุรี