In Bangkok

'รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์'ลงตรวจงานเขตบึงกุ่ม ดูบริการงานทะเบียน-ต้นแบบแยกขยะ



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯกทม.ลงพื้นที่เขตบึงกุ่มเช็กระบบ BMA-TAX จัดเก็บรายได้ ลดระยะเวลาให้บริการงานทะเบียนบัตร ตรวจแยกขยะเขตบึงกุ่ม ชมต้นแบบคัดแยกขยะโรงเรียนคลองกุ่ม ปั้นสวน 15 นาทีสวนเสริมมิตรซอยนวมินทร์ 68 สุ่มวัดค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์งานก่อสร้างซอยประเสริฐมนูกิจ 33 

(30 มิ.ย.66) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบึงกุ่ม ประกอบด้วย 

ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเข้าใช้งานในระบบ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอายุในการใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 58,628 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 51,341 แห่ง ห้องชุด 25,117 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 135,086 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว พร้อมกันนี้ ได้ติดตามการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตบึงกุ่ม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่รวมเวลารอคอยและขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการ ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งให้คำแนะนำและแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ได้รับการบริการด้วยความรวดเร็ว 

จากนั้น ตรวจเยี่ยมการคัดแยกขยะภายในอาคารสำนักงานเขตบึงกุ่ม มีข้าราชการและบุคลากร 622 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล มีการคัดแยกขยะรีไซเคิลเบื้องต้นก่อนนำไปทิ้ง แม่บ้านจะคัดแยกขยะที่สามารถขายได้ โดยเก็บรวบรวมไว้เพื่อขายในแต่ละเดือน 2.ขยะอินทรีย์ มีถังรองรับขยะของแต่ละฝ่ายฯ โดยฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เป็นผู้จัดเก็บขยะเศษอาหาร นำไปทำปุ๋ยหมักและทำน้ำหมักชีวภาพที่ศูนย์การเรียนรู้การจัดการมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม เขตบึงกุ่ม ส่วนไขมันจากการทำอาหารมีถังรองรับที่ฝ่ายโยธา เพื่อดักไขมันและนำเศษไขมันไปทำขยะปุ๋ยที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ เขตบึงกุ่ม 3.ขยะอันตราย มีจุด Drop off ข้างตึกโยธา เจ้าหน้าที่จะนำขยะอันตรายไปทิ้งในจุดที่กำหนดไว้ และแม่บ้านจัดเก็บในส่วนที่ประชาชนนำมาทิ้ง โดยใช้ลานจอดรถฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เป็นจุดรวบรวมขยะอันตรายจากพนักงานเก็บขนมูลฝอยที่จัดเก็บจากบ้านเรือนประชาชนและสถานประกอบการ ก่อนนำไปทิ้งที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช 4.ขยะทั่วไป แม่บ้านจะคัดแยกขยะทั่วไป และนำไปทิ้งที่จุดรองรับขยะข้างตึกโยธา รถเก็บขนมูลฝอยเข้าจัดเก็บขยะในช่วงเช้าของทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 600 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 468 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 131 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 159 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนคลองกุ่ม (เสรีไทยอนุสรณ์) พื้นที่ 7 ไร่ มีครูบุคลากรและนักเรียน 1,548 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2559 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ทำน้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมักไว้ใช้ในสวนเกษตรของโรงเรียน ขยะบางส่วนจะมีเกษตรกรมารับเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล ประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนช่วยกันคัดแยกขยะ บางส่วนเจ้าหน้าที่คัดแยกไว้เพื่อจำหน่าย 3.ขยะทั่วไป ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เข้าจัดเก็บขยะโดยมีรอบการจัดเก็บทุกวันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์ 4.ขยะอันตราย กำหนดจุดรวบรวมทิ้งขยะอันตราย โดยจะแจ้งให้ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ดำเนินการจัดเก็บเมื่อมีขยะเต็มถัง นอกจากนี้โรงเรียนได้จัดตั้งธนาคารขยะ รับซื้อกระดาษขาว กระดาษสี กระดาษลัง ขวดน้ำดื่มใส ขวดขุ่น สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 396 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 371 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 15 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 9 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน 

สำรวจสวน 15 นาที สวนเสริมมิตร ซอยนวมินทร์ 68 แยก 8-5-1 เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวนสาธารณะใหม่ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนบึงบัว ซอยเสรีไทย 43 พื้นที่ 11 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของเอกชนอนุญาตให้เขตฯ ใช้พื้นที่ทำประโยชน์เป็นระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2575 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาผู้รับจ้าง เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทางเดินโดยรอบ 2.สวนเสริมมิตร ซอยนวมินทร์ 68 พื้นที่ 79 ตารางวา เป็นที่ดินของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ จัดทำทางเดิน ตั้งวางม้านั่ง ปลูกต้นไม้ ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ปลูกต้นขนุน โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบึงกุ่ม ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันปลูกต้นไม้ อาทิ ต้นขนุน ต้นยอ ต้นมะม่วง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มความร่มรื่นภายในสวนดังกล่าว 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 สถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาลตา ซอยประเสริฐมนูกิจ 33 ถนนประเสริฐมนูกิจ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทสถานที่ก่อสร้าง ประเภทแพลนท์ปูน ประเภทสถานประกอบการต่อ ประกอบ หรือพ่นสียานยนต์ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำผู้รับจ้างโครงการให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยกันลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายนันทพงศ์ แก้วศรี ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบึงกุ่ม สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล