In Thailand

กาฬสินธุ์เดินหน้าโครงการกำจัดขยะผลิตพลังงานไฟฟ้าแก้ปัญหาขยะล้นเมือง



กาฬสินธุ์-บริษัท กาฬสินธุ์รุ่งเรือง ไบโอเพาเวอร์ 2012 จำกัด แถลงข่าวโครงการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำความร้อนไปผลิตพลังงานไฟฟ้า ในพื้นที่ตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ แก้ปัญหาขยะล้นเมือง พร้อมเดินหน้าจัดทำประชาพิจารณ์สร้างความเข้าใจให้กับชุมชน

วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ที่หอประชุมโรงเรียนพิพัฒน์ราษฎร์บำรุง เขตเทศบาลตำบลกมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ดร.ณัฏฐ์สิชา ภาภัคธนานันท์ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท กาฬสินธุ์รุ่งเรือง ไบโอเพาเวอร์ 2012 จำกัด พร้อมด้วยนายเลอศักดิ์ อิ้มทับ กรรมการผู้จัดการบริษัท มิสเตอร์ทอมเอ็นจิเนียริง จำกัด (ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและเครื่องจักรในการผลิตไฟฟ้า) นายปรีชาวิทย์ รอดรัตน์ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท เอ็นไว เวิร์ค จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม จัดทำรายงาน COP และ ESA) นายปริญญ์ โกจารย์ศรี วิศวกรเครื่องกล และนายเสกสรร พรสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ (วิศวไฟฟ้า) ร่วมกันแถลงข่าวโครงการกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยการนำความร้อนไปผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยมีประชาชนและ สื่อมวลชน ร่วมงานรับฟัง

ดร.ณัฏฐ์สิชา ภาภัคธนานันท์ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท กาฬสินธุ์รุ่งเรือง ไบโอเพาเวอร์ 2012 จำกัด กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณขยะมากขึ้น และยังไม่ได้รับการกำจัดถูกวิธีเท่าที่ควร ส่งผลกรนะทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมต่างๆ จึงได้จัดงานแถลงข่าวครั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการขยะ ที่กำลังเป็นปัญหาในหลายๆพื้นที่รวมถึง ใน จ.กาฬสินธุ์ด้วย โดยทางบริษัทมีความมุ่งมั่นในการหาวิธีที่ดีที่สุด ในการนำมาช่วยลดปริมาณขยะที่กำลังมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากหากทำการกำจัดขยะเพียงแค่วิธีการฝังกลบ อาจไม่เพียงพอ และไม่เกิดประโยชน์สูงสุด

ดร.ณัฏฐ์สิชา กล่าวอีกว่าที่ผ่านมา เทศบาลตำบลกมลาไสย ร่วมกับบริษัท กาฬสินธุ์รุ่งเรืองไบโอเพาเวอร์ 2012 จำกัด ได้ลงนามในสัญญาเพื่อก่อสร้างโรงงานแปรสภาพขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) ซึ่งหมายถึงขยะที่เผาไหม้ได้ และโรงงานผลิตไฟฟ้าจาก RDF ที่สามารถรองรับและกำจัดขยะมูลฝอยได้ไม่น้อยกว่า 320 ตัน/วัน  หรือ 102,400 ตัน/ปี โดยโรงงานจะได้จัดสร้างในพื้นที่ ต.กมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว เทศบาลฯ ได้ขอความอนุเคราะห์มูลนิธิสิ่งแวดล้อม จัดทำรายงานศึกษา และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการฯ ดูความเป็นไปได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งต้องเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด\

ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวสามารถก่อตั้งได้โดยไม่ขัดกับเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โรงงานมีระยะห่างจากศูนย์กำจัดขยะกมลาไสยในรัศมี 3 กิโลเมตร และจะได้มีการก่อสร้างโรงคัดแยกขยะมูลฝอยจำนวน 3 แห่ง คือศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยกมลาไสย ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยโนนบุรี อ.สหัสขันธ์ และศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยกุฉินารายณ์ โดยจะมีการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยทั้ง 3 แห่งดังกล่าว ให้มีระบบบำบัดอากาศ ระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ และติดตั้งระบบบำบัดของเสียและมลพิษที่ได้มาตรฐาน เป็นไปตามหลักสุขาภิบาลและมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

ด้านนายเลอศักดิ์ อิ้มทับ กรรมการผู้จัดการบริษัท มิสเตอร์ทอมเอ็นจิเนียริง จำกัด กล่าวว่า โรงงานแปรสภาพขยะมูลฝอยเป็น RDF จะเป็นการนำขยะมูลฝอยที่สะสมมากขึ้นในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง มาแปรรูปให้กลายเป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) ที่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้ โดยกระบวนการนี้จะช่วยลดปัญหาขยะที่สะสมอยู่ในพื้นที่ และช่วยให้การใช้พลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการขนย้ายขยะจะมีมาตรการป้องกันอย่างรัดกุม เช่น  รถขนย้ายขยะทุกคันติดตั้ง GPS  ใช้อุปกรณ์ป้องกันขยะตกหล่นอย่างมิดชิด ห้ามวิ่งผ่านเขตชุมชน เป็นต้น

ขณะที่นายปรีชาวิทย์ รอดรัตน์ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท เอ็นไว เวิร์ค จำกัด กล่าวว่าโรงงานผลิตไฟฟ้าจาก RDF ที่กำลังจะสร้างขึ้นนี้ มีกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ ตามระเบียบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานถือเป็นVSPP หรือผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมาก จะใช้ RDF เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและการควบคุมกระบวน เพื่อให้ได้กำลังไฟฟ้าที่เพียงพอและสะอาดในการใช้งาน โครงการนี้ นอกจากจะเป็นการกำจัดขยะมูลฝอยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและยังแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างงานและสร้างโอกาสในการพัฒนาท้องถิ่นอีกด้วย

 

สำหรับบริษัท กาฬสินธุ์รุ่งเรือง ไบโอเพาเวอร์ 2012จำกัด เป็นบริษัทด้านพลังงานทดแทน และการบำบัดขยะในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาท้องถิ่น บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์และนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพื่อสร้างพลังงานที่สะอาด อย่างไรก็ตาม หลังจากจัดแถลงข่าว ก็จะกำหนดแผนการขับเคลื่อนโครงการ เพื่อจัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับส่วนราชการ ประชาชน ในชุมชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการสร้างโรงงานแปรสภาพขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงขยะ ในโอกาสต่อไป