In Bangkok
'ศานนท์'พร้อมนำร่องทุกมิติรองรับPride LGBTQAI+HUBสู่World Pride2028
กรุงเทพฯ-(2 ก.ค.66) เวลา 19.00 น. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนา ในหัวข้อ "ประเทศไทยจะก้าวไปสู่การเป็น LGBTQAI+ HUB ของโลกได้หรือไม่ และเส้นทางการไปสู่การจัดงาน World Pride จะเป็นอย่างไร?" โดยมี นุชี่ (นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย), วาดดาว จาก Bangkok Pride, ผู้แทนพรรคเพื่อไทย, ผู้แทนพรรคก้าวไกล ร่วมเสวนา ณ Block I สยามสแควร์ เขตปทุมวัน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดงาน Pride ปีนี้เป็นเป็นปีที่ 2 ซึ่งปีนี้มีคนร่วมงานกว่าแสนคน มากกว่าปีที่แล้วที่ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสถานการณ์โควิด ที่สำคัญคือเรากำลังจะมีรัฐบาลใหม่ซึ่งจะมีนโยบายสนับสนุนความหลากหลายทางเพศในระดับประเทศที่เหนือกว่ากรุงเทพมหานครที่เป็นเพียงระดับท้องถิ่น กรุงเทพมหานครมีการสนับสนุนโดยให้สำนักงานเขตจดทะเบียนเชิงสัญลักษณ์ให้คู่รักเพศเดียวกันแล้วกว่าร้อยคู่ซึ่งเป็นความพยายามในระดับท้องถิ่น ในปีนี้เราพยายามจะไปไกลกว่านั้นโดยให้หน่วยงานในระดับภาครัฐและระดับรัฐบาลมาเข้าร่วมด้วย
อีกมิติหนึ่งที่เปลี่ยนไปแล้วคือมิติทางสังคม เชื่อว่าคนที่มาร่วมงาน Pride จำนวนมากในพาเหรดไม่ได้มาเพื่อความสนุกเพียงอย่างเดียว แต่มาในเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานจริงๆ สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อสารก็คือส่วนใหญ่ควรจะมองว่าเทศกาล Pride เป็นเรื่องของความหลากหลายทางเพศเพียงแต่มันมีมากกว่านั้นเรายังมีเรื่องของความคิดที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งกายของนักเรียน การไว้ทรงผม ความหลากหลาย ความแตกต่างทางแนวคิดทางการเมือง ซึ่งการปลูกฝังเรื่องความเท่าเทียมในส่วนของการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งควรสอนเรื่องสิทธิความเท่าเทียมกันที่สามารถร่วมอยู่ด้วยกันได้ นอกจากนี้กทม.ยังดูแลในเรื่องของระบบสาธารณสุข โดยปรับให้สถานพยาบาลดูแลเพศที่หลากหลายให้เข้าถึงมากขึ้น ทางด้านเศรษฐกิจด้วยก็เช่นเดียวกัน หลายภาคส่วนได้ผลักดันในเรื่องของการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างๆ ที่มีเรื่องของ LGBTQAI+ ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ซึ่งมิตินี้ทางกรุงเทพมหานครจะสนับสนุนผลักดันให้มากขึ้นไม่ให้เกิดอุปสรรคติดขัดเพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจต่อไป
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพูดเสมอว่าไม่อยากให้เป็นแค่ Pride Month แต่อยากเป็น Pride Everyday ให้ทุกวันเป็นความภาคภูมิใจเพราะฉะนั้นในเรื่องของการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานจะทำอย่างไรให้เข้าถึงทุกเพศทุกวัยอย่างเท่าเทียม ซึ่งกรุงเทพมหานครดำเนินการแล้ว 4 เรื่อง คือ เรื่องสาธารณสุข มีการให้ผู้ที่มีความต้องการหลากหลายทางเพศได้เข้าระบบสาธารณสุขให้ครบ 11 ศูนย์ เรื่องมิติสังคม ต้อง พัฒนาร่วมกันกับทางภาคีเครือข่ายด้วยความร่วมมือกันอย่างจริงใจเพื่อผลักดันในทุกมิติที่ติดขัดในเรื่องของกฎหมาย หากเป็นกฎหมายระดับประเทศก็เป็นหน้าที่ของ กทม. ในการผลักดันกฎหมายดังกล่าว เรื่องเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องท้าทายของเมือง การที่เราจะขยายอุตสาหกรรมต้องได้รับความร่วมมือจากเอกชนซึ่งจะมีความคล่องตัวกว่า เอกชนจะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ กทม. มีนโยบายที่จะดึงดูดเอกชนรายใหญ่ ๆ ให้มาเป็นลงทุนในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เรื่องความเหลื่อมล้ำก็ต้องแก้ด้วยเช่นเดียวกัน เรื่องของเอกสารราชการที่รองรับความเท่าเทียมทางเพศหรือการสมรสเท่าเทียม ซึ่งต้องมีการพัฒนาเรื่องสิทธินอกเหนือจากสิทธิในกระดาษ คือสิทธิในชีวิตจริงที่ทางราชการยังไม่สามารถดำเนินการให้ได้ ดังนั้น กทม. จะทำหน้าที่นำร่องดำเนินการในสิ่งที่สามารถทำได้ก่อนในฐานะราชการส่วนท้องถิ่น
ในส่วนของความพร้อมที่กรุงเทพฯจะเข้าสู่ World Pride กรุงเทพมหานครต้องพัฒนาการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมทางด้านกายภาพต่าง ๆ อาทิ ทางเท้า ฟุตบาท สำหรับผู้พิการ ห้องน้ำสำหรับทุกเพศ สถานที่ราชการและพื้นที่สาธารณะต้องเข้าถึงได้สำหรับทุกคน การเตรียมความพร้อมทางด้านเอกสารทางกฎหมายต่าง ๆ เพื่อรองรับ ซึ่งทั้งหมดคือความท้าทายที่ต้องทำให้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อรองรับ World Pride 2028
ทั้งนี้ เดือนมิถุนายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งเทศกาลไพรด์ หรือ Pride Month ในหลายประเทศจึงมีการจัดงานของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อเป็นการส่งเสริมเรื่องสิทธิในเรื่องการสมรสเท่าเทียม และเป็นกระบอกเสียงที่จะช่วยผลักดัน สนับสนุนให้กลุ่ม LGBTQ+ มีพื้นที่แสดงออก เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน กรุงเทพมหานครจึงได้ร่วมกับบางกอกไพรด์ (Bangkok Pride) สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย คอร์นเนตโต (Cornetto) สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โก๋แก่ เครื่องสำอางเมอร์เรซกา (Merrez'ca) และทริงเก็ต (Trinket) จัดงาน This is Pride of Siam 2023 ขึ้น ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. - 2 ก.ค. 66 เวลา 15.00 - 21.00 น. ณ สยามสแควร์
กิจกรรมภายในงาน อาทิ ขบวนพาเหรด LGBTQ+ สุดอลังการตลอดเส้น Siam Square Walking Street การเสวนาจากศิลปิน นักแสดงซีรีส์วาย หนังกลางแปลง โดยฉายภาพยนตร์และซีรีส์วาย (ความหลากหลายทางเพศ) ซึ่งคัดเลือกโดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) นิทรรศการประวัติศาสตร์ ความทรงจำ ความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศของวงการภาพยนตร์และซีรีส์ กิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ เรียนรู้ความหลากหลายทางเพศด้วยความเห็นอกเห็นใจ (empathy) โดย สมาคมฟ้าสีรุ้ง กิจกรรมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในสังคมสมัยใหม่ การจัดตรวจสุขภาพโดยคลินิกเทคนิคการแพทย์ การเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคมผ่านศิลปะ การเรียนรู้การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและการป้องกันอย่างถูกวิธี เป็นต้น ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/SiamSquareOfficial