In Thailand
สุราษฎร์ธานีพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP
สุราษฎร์ธานี-ณ สหไทยการ์เด้น พลาซ่า รองผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ พัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีความโดดเด่นโดนใจผู้บริโภค
วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.00 น. ณ สหไทยการ์เด้น พลาซ่า สุราษฎร์ธานี นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี มอบหมายให้นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge-Based OTOP:KBO)จังหวัด เพื่อพิจารณาคัดเลือกผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ผ่านการพัฒนามีความโดดเด่นเป็นตัวแทนเข้าประกวดและเผยแพร่ผลการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge-Based OTOP:KBO)ในระดับประเทศ ประจำปี 2566
การดำเนินงานโครงการเป็นการพัฒนาตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด มีเป้าหมายดำเนินการปีละ 20 กลุ่ม/ผลิตภัณฑ์ ได้กำหนดเป้าหมายที่สำคัญคือผลิตภัณฑ์สามารถเข้าสู่กระบวนการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับ ในระดับพื้นฐานและท้องถิ่น มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ผลิตภัณฑ์สามารถผลิตซ้ำได้ในปริมาณ และคุณภาพใกล้เคียงกัน ผลิตภัณฑ์มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว โดยนำเสนอเรื่องราวที่สร้างสรรค์และน่าสนใจ ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐาน และมีตลาดการจำหน่ายที่ถาวรในช่องทางใด ช่องทางหนึ่ง และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแบรนด์สินค้า ที่สามารถนำไปใช้ส่งเสริมการตลาด ผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางการตลาดและมีรายได้ ทั้งนี้ได้จัดกิจกรรมทดสอบตลาด ไปแล้วเมื่อวันที่ 1,2 กรกฎาคม 2566 ณ สหไทยการ์เด้น พลาซ่า สุราษฎร์ธานี ปรากฎว่าได้รับความสนใจจากลูกค้าเป็นอย่างดีในทุกผลิตภัณฑ์
นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้กล่าวว่า “ได้เห็นผลสำเร็จของโครงการนี้อย่างชัดเจน มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาทั้งตัวผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์จากที่เป็นอยู่เดิม กลายเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่มีความโดดเด่นมีนวัตกรรมของการพัฒนาที่ชัดเจนต้องขอชื่นชมและขอขอบคุณในความตั้งใจของคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัดสุราษฎร์ธานี และบริษัทพฤกษาพรรณวดี จากการทดสอบตลาดที่ผ่านมา ทราบว่ากลุ่มเป้าหมายสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้จริง ลูกค้าให้ความสนใจและมีการติดต่อสั่งซื้อหลายผลิตภัณฑ์
นายบันดาล สถิรชวาล ยังได้กล่าวอีกว่า “การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเพื่อเป็นตัวแทนเข้าประกวดและเผยแพร่ผลการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge-Based OTOP:KBO)ในระดับประเทศ ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และข้อพิจารณาเพิ่มเติม 3 ประการ ได้แก่ 1. ความพร้อมผู้ประกอบการ 2. ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ต้องมีความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ 3.ผลิตภัณฑ์ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สามารถนำวัตถุดิบที่เหลือในชุมชนกลับมาใช้ต่อได้ตามหลัก BCG โมเดล
คณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้พิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์ชี้วัดที่กำหนด พร้อมให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เพิ่มเติม โดยมีผลการพิจารณาตามลำดับดังนี้
ลำดับที่ 1. บ้านน้ำว้า (NAM WA) ผลิตภัณฑ์ กระเป๋าสานใยกล้วย พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋าสานใยกล้วย ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุจากต้นกล้วย ที่ในท้องถิ่น อันเป็นการเสริมสร้างและกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย ตลอดทั้งสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ รองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้ด้วย
ลำดับที่ 2. ไพรเรส ผลิตภัณฑ์ ทรายแมวสมุนไพร พัฒนาจากทางปาล์มน้ำมันและวัสดุธรรมชาติ เป็นผลิตภัณฑ์วัสดุดูดซับปัสสาวะ อุจจาระของแมว ไม่ส่งกลิ่นรบกวนได้เป็นอย่างดี
ลำดับที่ 3. กลุ่มอาชีพพริกแกงตำบลบ้านแม่ท่าล่าง ผลิตภัณฑ์ เครื่องแกงกะทิ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องแกงขนมจีนกึ่งสำเร็จรูป ตำบลเขาประสงค์ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจใช้วัสดุพืชผัก สมุนไพรจากครัวเรือนในพื้นที่ เก็บรักษาง่าย ใช้คล่อง ขนส่งสะดวก สามารถสร้างช่องทางการตลาดได้ง่าย
ในช่วงท้ายนายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวเสริมอีกว่าในช่วงท้ายว่า สำหรับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ยังมีความน่าสนใจสามารถพัฒนาต่อยอดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ผู้ประกอบการจะต้องมีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของตนเอง และกล้าที่จะลงทุนดำเนินการ ขอให้คณะกรรมการเครือข่าย KBO จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนา ให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อเข้ารับการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ต่อไป และขอเป็นกำลังใจให้ผลิตและจำหน่าย ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป”