In Bangkok

ผู้ว่าฯกทม.ปลูกต้นราชพฤกษ์และทองอุไร ในกิจกรรม'ผู้ว่าฯสัญจรเขตพระโขนง'วันนี้



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯกทม. ปลูกต้นราชพฤกษ์และทองอุไรสีเหลืองสดใส ในกิจกรรม"ผู้ว่าฯสัญจร" เขตพระโขนง กับโครงการต้นไม้ 1 ล้านต้น เพิ่มกำแพงกรองฝุ่นและถนนสวย 

(8 ก.ค.66) เวลา 08.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวกับสำนักงานเขตพระโขนง โดยปลูกต้นราชพฤกษ์ 6 ต้น ต้นทองอุไร 20 ต้น โดยมีนายสราวุธ อนันต์ชล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพระโขนง นางสาววรุณลักษม์ พลหาญ ผู้อำนวยการเขตพระโขนง นำผู้บริหารและบุคลากรเขตพระโขนง ร่วมปลูกต้นไม้ ณ สวนหย่อมหน้าโรงเรียนพูนสิน (เพชรสุขอุปถัมภ์) ซอยพงษ์เวชอนุสรณ์ เขตพระโขนง ซึ่งสวนนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เอื้อเฟื้อสถานที่ให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างและดูแลรักษาต้นไม้

ต้นทองอุไร เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูง 2-4 เมตร ลำต้นเล็ก แผ่กิ่งด้านบนเป็นพุ่มกลม โปร่ง ใบประกอบขนนกมีใบย่อยที่ปลายสุด จำนวน 7-11 ใบ สีเขียวอ่อน ขอบใบย่อยหยิกเป็นฟันเลื่อย ผิวสัมผัสละเอียด ลำต้นสีน้ำตาลนวลตลอดทั้งต้น ก้านใบช่อดอกอ่อนเป็นสีเขียว ดอกสีเหลืองสด มีรูปลักษณ์คลายระฆัง หรือแตร หรือทรัมเป็ต ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกดกมาก กลีบดอกติดกันเป็นรูปกรวยยาว 3-4 เซนติเมตร ปลายกลีบมี 5 กลีบ มีลักษณะกลมเป็นคลื่นเล็กน้อย กลีบเลี้ยงเป็นรูปกระดิ่งสีเหลือง แยก 5 แฉกกลีบดอกปลายแยก 5 กลีบรับกัน เกสรตัวผู้ เติบโตได้ดีในดินร่วนทุกชนิด ที่ความชื้นปานกลาง ระบายน้ำได้ดี โดยทองอุไรดอกสีเหลืองสดใส ปลูกง่าย เกิดง่าย ในเขตร้อนทั่วไป ไม่ควรปลูกในที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง นิยมปลูกข้างถนน เกาะกลางถนน และเหมาะสำหรับปลูกมุมใดมุมหนึ่งของบ้านที่แดดส่องถึง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่ง

ในส่วนของต้นราชพฤกษ์ (Golden shower, Indian labrnum, Pudding – pine tree) มีชื่อท้องถิ่นว่า คูน ชัยพฤกษ์ ราชพริก (ภาคตะวันออกเฉียงใต้) ลมแล้ง (ภาคเหนือ) ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 5 – 15 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นรูปไข่แกมรูปร่ม ลำต้นค่อนข้างเปลา ตรง เปลือกนอกสีเทาอมน้ำตาล เรียบ หรือแตกล่อนเป็นสะเก็ด เปลือกในสีชมพู – สีแดง หรือสีส้ม เนื้อไม้สีแดงแกมเหลือง ลักษณะใบ เป็นใบประกอบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 4 – 8 เซนติเมตร ยาว 7 – 15 เซนติเมตร โคนใบมน ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวแหลม เนื้อใบเกลี้ยงค่อนข้าง หูใบค่อนข้างเล็ก หลุดร่วงได้ง่าย ลักษณะดอก ช่อกระจะ ขนาดใหญ่ ออกที่กิ่ง หรือซอกใบ ดอกย่อยสีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียวอ่อน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปขอบขนาน ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มักหลุดร่วงง่าย กลีบดอกรูปไข่กลับ มี 5 กลีบ ยาวกว่ากลีบเลี้ยงประมาณ 2 – 3 เท่า เกสรเพศผู้โค้งงอน มี 10 อัน สั้น – ยาวแตกต่างกัน สามารถใช้ประโยชน์โดยเนื้อไม้ใช้ทำเสา เครื่องมือต่างๆ เครื่องดนตรี แก่นคูนมียางฝาด ใช้เคี้ยวกับหมากแทนสีเสียด รากใช้ฝนทารักษาโรคกลาก และเป็นยาระบาย ใบใช้ต้มรับประทานเป็นยาระบาย ฆ่าพยาธิ ดอกสามารถนำมาแก้ไข้ เป็นยาระบาย รักษาแผลเรื้อรัง เนื้อในฝักใช้เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาการแน่นหน้าอก ฟอกหรือชำระน้ำดี แก้ลม โดยต้นราชพฤกษ์ เป็นต้นไม้ประจำชาติไทย พบตามป่าเต็งรัง  ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ติดผลราวเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม

ทั้งนี้ กทม.ขอเชิญชวนร่วมปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น สร้างกำแพงสีเขียวเพื่อกรองฝุ่นทั่วเมือง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งหลังจากปลูกต้นไม้แล้วต้องไปดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูกด้วย โดยสามารถติดตามความคืบหน้าและสุขภาพของต้นไม้ที่ปลูกได้ที่ https://tree.bangkok.go.th ซึ่งปัจจุบันมียอดจองปลูกต้นไม้กับกทม.แล้ว 1,641,310 ต้น และปลูกต้นไม้ไปแล้ว 492,032 ต้น (8 ก.ค.66 เวลา 08.30 น.)