In Bangkok
วางศิลาฤกษ์อาคารใหม่ 'รพ.ราชพิพัฒน์' ขยาย200เตียงเพิ่มศักยภาพให้บริการปชช.
กรุงเทพฯ-(9 ก.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพีธีวางศิลาฤกษ์อาคารท่อน้ำไทยเพื่อผู้สูงอายุและอาคารประชาร่วมใจ ซึ่งก่อสร้างเพื่อรองรับการให้บริการและขยายบริการผู้ป่วยและอาคารหอผู้ป่วยพิเศษ โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นผู้ประกอบพิธี มี นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พันเอก ดร.ยรรยง ภัทรเลาหะ กรรมการบริหาร บริษัท อุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการแพทย์ ผู้บริหารและบุคลากรโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตบางแค
สำหรับวันนี้ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารใหม่ 2 อาคาร ได้แก่ 1. อาคารท่อน้ำไทยเพื่อผู้สูงอายุ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความสูง 4 ชั้น กว้าง 15 เมตร ยาว 45 เมตร พื้นที่ใช้สอยจำนวน 2,700 ตารางเมตร รองรับได้ 100 เตียง อุปถัมภ์การก่อสร้างโดยบริษัทอุตสาหกรรมท่อน้ำไทย จำกัด และ 2. อาคารประชาร่วมใจ มีความสูง 4 ชั้น กว้าง 15 เมตร ยาว 45 เมตร พื้นที่ใช้สอยจำนวน 2,700 ตารางเมตร รองรับได้ 100 เตียง มีพระเทพประสิทธิมนต์ เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม วรวิหาร เป็นประธานอุปถัมภ์ พร้อมคณะศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไปร่วมบริจาคสมทบทุนการก่อสร้าง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โรงพยาบาลราชพิพัฒน์เป็นโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครที่เป็นแบบในการบริหารจัดการได้ดี ซึ่งโรงพยาบาลราชพิพัฒน์เป็นเหมือนยานแม่ดูแลศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกต่าง ๆ แล้วลงไปสู่ชุมชน เป็นต้นแบบในการพัฒนาสู่บางกอกโซนนิ่ง ซึ่งวันนี้ประชาชนที่ชื่นชมการบริการของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ได้บริจาคที่ดินและเงินเพื่อสร้างอาคาร เป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่ามีประชาชนที่ไว้ใจและพร้อมให้ความร่วมมือในการสร้างระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งขึ้น การก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมเป็นการขยายเตียงเพื่อดูแลประชาชนเพิ่มเติม
อนาคตจะมีการทำศูนย์บริการสาธารณสุขให้เข้มแข็งคัดกรองผู้ป่วยก่อนมาโรงพยาบาลเพื่อลดจำนวนประชาชนที่จะต้องมาโรงพยาบาล โดยใช้ระบบ Telemedicine (ระบบการแพทย์ทางไกล หรือ โทรเวช) เข้ามาช่วยเชื่อมโยงผู้ป่วยให้สามารถพบแพทย์ได้จากทางไกล นอกจากนี้ ได้มีการดูในเรื่องที่จะให้กรุงเทพมหานครเข้าไปดูแลเรื่องคุณภาพของคลินิกอบอุ่น ที่อยู่ในการดูแลของ สปสช. ด้วย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนประชากรแฝงในพื้นที่นั้น มีแนวคิดอยากให้ย้ายมาอยู่ทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ เพื่อที่จะได้มีข้อมูลการให้บริการที่ชัดเจน แต่เบื้องต้นอยากให้ไปลงทะเบียนกับคลินิกชุมชนอบอุ่นทุกแห่งที่ขณะนี้เปิดรับลงทะเบียนแล้ว ซึ่งประชาชนสามารถรับบริการได้ตามปกติ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง การจ่ายค่ารักษาก็เป็นการเบิกจ่ายตรง โดยประชาชนสามารถไปรับบริการที่หน่วยปฐมภูมิก่อนแล้วก็จะมีการส่งตัวผู้ป่วยตามขั้นตอนการรักษาต่อไป ซึ่งถ้าเข้าระบบแล้วสามารถประเมินประสิทธิภาพการให้บริการที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้ ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นหน่วยปฐมภูมิ เป็นเส้นเลือดฝอย ถ้ามีความเข้มแข็ง ประชาชนมีความเชื่อมั่น ประชาชนก็ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ถ้าเส้นเลือดฝอยเข้มแข็ง เส้นเลือดใหญ่ก็เข้มแข็งด้วย แต่ถ้าเส้นเลือดฝอยเปราะบาง คนก็จะไปเส้นเลือดใหญ่หมด สุดท้ายคนป่วยจริง ๆ ก็ไม่มีที่หรือเข้าถึงการรักษาพยาบาล
ปัจจุบันโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ มีอาคารทั้งหมด 4 อาคาร ประกอบด้วย อาคารเฉลิมพระเกียรติ อาคารสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ ที่ 17 อาคารรวงผึ้ง อาคารภูมิพิพัฒน์ ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารเมตตาธรรม ดร.สุธาสินี นิติสาครินทร์ ศูนย์โรคหัวใจและไต อุปถัมภ์การก่อสร้างโดย ดร.สุธาสินี นิติสาครินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทฟิล์มมาสเตอร์ จำกัด และอาคารศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษา อุปถัมภ์การก่อสร้างโดยศาสตราจารย์ ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เปิดให้บริการด้านการแพทย์ การพยาบาล และเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติทางคลินิกหลัก หลักสูตรแพทยศาสตรบัณทิต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ขนาด 441 เตียง เปิดให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในปีงบประมาณ 2565 มีสถิติผู้มารับบริการที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ แบ่งเป็นผู้ป่วยนอก จำนวน 417,981 ราย และผู้ป่วยใน จำนวน 14,735 ราย และได้มีการพัฒนาขยายการบริการเพื่อรองรับผู้ป่วยเพิ่มเป็น 600 เตียง