In Bangkok

'ศานนท์'สั่งขับเคลื่อนนโยบายศึกษาของ กรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง 



กรุงเทพฯ-(10 ก.ค.66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2566 โดยมี พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักการศึกษา และคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร 

ในที่ประชุม ได้รายงานผลการดำเนินนโยบายด้านการศึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการพัฒนาคุณภาพหลักสูตรและการจัดกระบวนการเรียนรู้ (Curriculum and Learning) นโยบายเด็กเล่นน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น จากผลการศึกษาเรื่องระยะทางจากโรงเรียนไปสระว่ายน้ำ พบว่ามีเขตที่นักเรียนต้องเดินทางไกลเพราะสระว่ายน้ำไม่เพียงพอ หรือไม่มีสระว่ายน้ำภายในรัศมี 5 กิโลเมตร ได้แก่ พื้นที่โซนตะวันออก เขตหนองจอก เขตลาดกระบัง เขตคลองสามวา พื้นที่โซนตะวันตก เขตหนองแขม เขตบางขุนเทียน พื้นที่ที่ควรสร้างสระเพิ่ม หรือขยายขนาดของสระให้เหมาะสมต่อความต้องการ ได้แก่ โรงเรียนหนอกจอกพิทยานุสรณ์ ศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ ศูนย์กีฬามีนบุรี พื้นที่ที่อาจจะต้องใช้สระเอกชนหรือสระอื่นๆ เพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ ได้แก่ เขตลาดกระบัง และเขตบางขุนเทียน 2.ด้านการเปิดโรงเรียนสู่การเรียนรู้ (Open Education) นโยบายเปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรม After School Program เรียน เล่น หลังเลิกเรียน และพี่สอนน้อง ซึ่งสำนักการศึกษา ร่วมกับมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ (Saturday School Foundation) โดยการปรับพื้นที่การเรียนรู้ของโรงเรียนให้เป็นพื้นที่กิจกรรมการเรียนรู้ในวันหยุดและใช้พื้นที่โรงเรียนเพื่อดูแลความปลอดภัยของนักเรียนช่วงหลังเลิกเรียน นโยบายวิชาชีพเลือกเสรีสำหรับนักเรียน ส่งเสริมการเรียนการสอนด้านทักษะอาชีพในรายวิชาเพิ่มเติมระดับมัธยมศึกษาในโครงการเปิดโลกกว้างสร้างสู่อาชีพ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสค้นพบความถนัดและแนวทางอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองก่อนตัดสินใจเลือกเส้นทางศึกษาต่อได้อย่างเหมาะสม โดยเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อพัฒนาทักษะด้านอาชีพของนักเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนด้านอาชีพเป็นไปตามความต้องการของนักเรียน 

3.ด้านการปลดล็อคข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร (Teacher is a key) นโยบายคืนครูให้นักเรียน ลดภาระงานเอกสารด้วยเทคโนโลยี การจ้างเหมาธุรการ การคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งพี่เลี้ยง ส 1-2 โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น สำหรับวิชาเอกที่ไม่มีผู้ขึ้นบัญชีคงเหลือ ได้แก่ แนะแนว การศึกษาพิเศษ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีทางการศึกษา และดนตรีสากล ให้สำนักการศึกษาวางแผนการคัดเลือก ให้สามารถบรรจุและแต่งตั้งให้ทันภายในเดือนธันวาคม 2566 4.ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา (Digital Transformation) นโยบายยกระดับห้องแล็บคอมพิวเตอร์ทุกโรงเรียนให้ทันสมัยและเพียงพอ โดยดำเนินการปรับปรุงและติดตั้งระบบห้องคอมพิวเตอร์โรงเรียน จำนวน 598 ห้อง และศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ สำนักการศึกษา จำนวน  1 ห้อง โครงการห้องเรียนดิจิทัลและโครงการรับบริจาคคอมพิวเตอร์ โดยเปิดโครงการห้องเรียนดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และโครงการปันน้ำใจให้น้องได้เรียนรู้ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ณ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์  สำนักงานเขตบางเขน 

5.ด้านการสร้างสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่เข้มแข็งสำหรับทุกคนอย่างทั่วถึง (Strong Foundation) นโยบายโรงเรียนเป็นแหล่งโภชนาการที่มีคุณภาพให้กับเยาวชน ทั้งมื้อเช้าและมื้อกลางวัน แนวทางการนำร่องใช้งาน Thai School Lunch for Vendor (ระบบตรวจรับวัตถุดิบและอาหารของผู้ประกอบการ) ในระยะที่ 1 ซึ่งสำนักการศึกษาได้ว่าจ้างให้ Nectec จัดทำระบบ Thai School Lunch for BMA เพื่อให้ 437 โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร จัดบริการอาหารเช้าและอาหารกลางวันที่มีคุณภาพถูกหลักโภชนาการ เพื่อให้ครอบคลุมกระบวนการทำงานและสามารถตรวจสอบได้ นโยบายผ้าอนามัยฟรี แนวทางเกี่ยวกับการไว้ทรงผม และเครื่องแต่งกายของนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 6.ด้านการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากรุงเทพมหานคร (Education Sandbox)  โดยมีภาคีเครือข่าย ดังนี้ 1.Starfish ได้เข้าดำเนินการอบรมครูโดยทีมงานจะมีการ coaching ให้ โดยครูจะนำไปขยายผลกับนักเรียน ต่อยอดในการจัดการเรียนการสอนได้หลายรูปแบบ 2. มูลนิธิครูดีของแผ่นดิน และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ได้เข้ามาช่วยให้คำแนะนำสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียนและให้คำปรึกษาการออกแบบนวัตกรรม รวมถึงการวัดผลแก่โรงเรียนวัดมหาธาตุ เขตพระนคร พัฒนาแผนการสอนเรื่องโขนน้อย โดยทำเป็น Model กระบวนการเรียนรู้ (เล่มคู่มือ) ประกอบการเรียนการสอนเป็นหลักสูตร ซึ่งมีสถาบันบัณฑิตพัฒนาศิลป์ ให้คำแนะนำเรื่องนาฎศิลป์-โขน มูลนิธิครูดีของแผ่นดิน ให้คำปรึกษาและเสนอแนะ รวมถึงเป็น Stakeholder 3.สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) เป็นสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญเรื่อง EF จะดำเนินการอบรมครูระดับชั้นปฐมวัย เรื่อง EF พื้นฐาน และเชื่อมไปยังการพัฒนาทั้ง 4 ด้าน (ร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม) 4.สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล อ.เคนนี่ (ประธานหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล) โดยมีเป้าหมายพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และห้องเรียน EP ดำเนินการอบรมสอนภาษาอังกฤษด้านสมรรถนะและทักษะการสอนภาษาอังกฤษให้แก่ครู 5.สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล อ.มิรินด้า (ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา-วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีเป้าหมายพัฒนาทักษะการอ่านภาษาไทยของนักเรียน จัดทำหลักสูตรสำหรับการอบรมเทคนิคการสอนภาษาไทยให้แก่ครู และ 6.มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช โรงเรียนวัดหัวลำโพงได้เลือกเป้าหมายการพัฒนาเรื่องทักษะภาษาจีน เพื่อสร้างนักเรียนให้เป็นมัคคุเทศก์น้อยดูแลนักท่องเที่ยวชาวจีนรอบบริเวณโรงเรียน 7.โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จะเข้ามาช่วยพัฒนาอบรมเทคนิคการสอนให้แก่ครู โดยใช้หลักสูตรของโรงเรียนมาช่วยเรื่อง PBL พัฒนาภาวะผู้นำของนักเรียน 8.ทักษะอาชีพ สำนักการศึกษาประสานหอการค้าฯ และมูลนิธิครูดีของแผ่นดินให้มาช่วยแนะนำและออกแบบตามลักษณะของทักษะอาชีพที่แต่ละโรงเรียนสนใจ เช่น การทำตลาดออนไลน์ การพัฒนาแพ็คเกจของสินค้า