In Bangkok

ผู้ว่าฯชัชชาติประชุมคณะผู้บริหารกทม. เร่งกรุงเทพฯเป็นSmart City



กรุงเทพฯ-(10 ก.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 15/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า  วันนี้ได้ประชุมเกี่ยวกับนโยบายพื้นฐานของ Smart City คือการนำข้อมูลของเมืองมาใช้เพื่อบริหารจัดการเมืองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสิ่งที่เราทำมาตลอด 1 ปี คือการทำฐานข้อมูลดิจิทัล เช่น Traffy Fondue ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการการนำปัญหาของประชาชนกว่า 3 แสนเรื่อง มาเป็นฐานข้อมูล แล้วลงไปแก้ปัญหาให้ 

ส่วนสิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้คือการนำข้อมูลชุมชนทั้งหมดมาลงเป็นพิกัดดิจิทัล จัดทำเป็นแผนผังชุมชน โดยลงข้อมูลไปแล้วประมาณ 2,000 ชุมชน หรือ 99.5% เป็นการขึ้นโครงไว้ก่อน จะต้องมีการเติมข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบว่าแต่ละชุมชนอยู่ที่ไหนบ้าง ระบุพิกัดละเอียด มีถังดับเพลิงอยู่ที่ไหน มีประปาหัวแดงอยู่ที่ไหน ต่อไปก็จะมีข้อมูลว่ามีจำนวนครัวเรือนเท่าไร มีประชากรเท่าไร มีคนพิการ/ผู้ป่วยติดเตียงอยู่ที่ไหน และอาจมีข้อมูลอื่น เช่น บ้านเช่า อสส.อยู่บ้านหลังไหน มีศูนย์เด็กเล็ก/บ้านหนังสือตรงไหน โรงเรียนอยู่ตรงไหน หรือข้อมูลสุนัขและแมวจรจัดมีเท่าไร ต้องจัดเตรียมวัคซีนเท่าไร เป็นต้น ที่สำคัญชุมชนจะต้องสามารถอัปเดตข้อมูลได้ ให้อาสาสมัครเทคโนโลยีที่มีอยู่ในชุมชนช่วยอัปเดตข้อมูลเหล่านี้ เพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เดินหน้าในปีที่ 2 นี้ ซึ่งจะทำให้บริหารจัดการเมืองได้ดีขึ้น แต่ต้องปิดเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลเพราะมีกฎหมายเรื่อง PDPA อยู่

จากนั้นจะมีการทำฐานข้อมูลของทุกอย่างให้อยู่บนระบบ GIS (Geographic Information System หรือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์) เช่น โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ที่ขออนุญาตก่อสร้าง เพื่อให้ทราบว่าเป็นโครงการอะไร หน่วยงานใดรับผิดชอบ ก่อสร้างเมื่อไร เสร็จเมื่อไร เมื่อประชาชนพบเห็นปัญหาในพื้นที่ก่อสร้างก็จะทำให้ทราบว่าผู้รับผิดชอบคือใคร เป็นต้น การทำฐานข้อมูลเหล่านี้เป็นพื้นฐานของ Smart City เพื่อการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่กำลังเร่งรัด ซึ่งการดำเนินการขณะนี้ทำได้ค่อนข้างดี 

ส่วนในเรื่องของการจัดเก็บถังดับเพลิงเราได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยจัดเก็บถังดับเพลิงเสื่อมสภาพได้ประมาณ 20,000 ถัง จะมีการนำถังใหม่ไปทดแทนประมาณ 10,000 ถัง และลงข้อมูลใน QR Code ให้รู้ว่าเริ่มใช้เมื่อไร มีการบำรุงรักษาอย่างไร น่าจะสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจในการใช้อุปกรณ์ดับเพลิงได้มากขึ้น   

กทม.ชวนคนใจบุญแจกอาหารคนไร้บ้าน 2 จุดที่กำหนด งดแจกบนถนนราชดำเนิน เพราะมากกว่าการแจกอาหาร คือคนไร้บ้านเข้าถึงสวัสดิการที่เหมาะสม

(10 ก.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเรื่องการจัดการปัญหาคนไร้บ้าน ว่า  สถานการณ์คนไร้บ้านดีขึ้น แต่อาจจะมีคนไร้บ้านที่อยู่ใกล้โรงเรียน โดยเฉพาะบริเวณถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหานี้เกิดจากการที่คนใจบุญนำอาหารมาให้คนไร้บ้าน ทำให้คนไร้บ้านมาอยู่ตามถนนเพื่อรออาหารแจก ที่ผ่านมาเราได้มีแนวคิดจัดจุด Drop in จำนวน 2 จุด เพื่อให้เป็นจุดแจกอาหารแก่คนไร้บ้าน โดยจุดที่ 1 อยู่ที่บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และจุดที่ 2 บริเวณตรอกสาเก ถนนอัษฏางค์ 

โดยทั้ง 2 จุด สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนไร้บ้านได้เป็นอย่างดี จากสถิติตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 65 - 30 มิ.ย. 66 เรามีการให้คำปรึกษาแนะนำสวัสดิการให้กับคนไร้บ้าน 1,249 ราย แจกอาหารไปแล้ว 115,430 ชุด ตรวจสุขภาพ 1,131 ราย มีคนไร้บ้านที่ได้งาน 169 ราย จัดทำบัตรประชาชน 80 ราย ย้ายสิทธิ์การรักษาพยาบาลให้เหมาะสมอีก 257 ราย บริการซัก อบ อาบ 960 ราย ตัดผมไป 438 คน ส่งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 5 ราย และส่งกลับภูมิลำเนา 10 ราย 

“ต้องขอขอบคุณที่เห็นใจคนที่ไร้บ้าน การที่เรานำอาหารมาบริจาคที่จุด Drop in ถือเป็นการช่วยชีวิตเขาในระยะยาว ฉะนั้น ต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่ใจบุญนำอาหารมาแจกที่จุด Drop in ทั้งบริเวณตรอกสาเก หรือใต้สะพานปิ่นเกล้า เพราะจะทำให้สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้มากขึ้น คนไร้บ้านจะได้มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการ การจ้างงาน ตรวจสุขภาพ ซักผ้า อาบน้ำ ตัดผม โดยอนาคตจะออกมาตรการให้เข้มข้นขึ้นเพื่อไม่ให้แจกอาหารริมถนนราชดำเนิน ซึ่งอยากให้มองว่าเป็นการบังคับ แต่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของเมือง” ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำ

นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจในพื้นที่เพื่อดูแลเรื่องนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีคนไร้บ้าน 2 ส่วน คือ คนไร้บ้านที่มีความลำบากจริง ๆ และกลุ่มที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ดื่มสุรา ติดยาเสพติด ซึ่งเราต้องแยกกลุ่มนี้ออกให้ได้อย่างเด็ดขาดโดยร่วมมือกับทางตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า  กทม.ขอขอบคุณทางเครือข่าย ทั้งมูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอิสรชน และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ตลอดจนกระทรวง พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ที่เป็นทีมงานสำคัญที่ช่วยกันในเรื่องนี้ เชื่อว่าการดูแลระยะยาวเป็นเรื่องสำคัญ จึงอยากเชิญชวนทุกท่านที่ต้องการให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านไปยังจุด Drop in ที่กำหนด ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 67 กทม.จะนำบ้านอิ่มใจกลับมาอีกครั้ง ณ ตึกบริเวณสะพานวันชาติ โดยหากได้งบประมาณมาจะดำเนินการทันที

กทม.ชวนป้องกันน้ำท่วม วอนประชาชนทิ้งขยะในจุดที่กำหนดตามเวลาจัดเก็บ ไม่ทิ้งขยะริมถนน ไม่เทน้ำมัน/เศษอาหารลงท่อระบายน้ำ

(10 ก.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่า  สถานการณ์น้ำยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เมื่อเช้ามีการออก ว.8 ให้ทุกคนเตรียมลงพื้นที่ ส่วนระดับน้ำในคลองยังพร่องน้ำได้ดี น้ำระบายเร็ว ไม่มีน้ำขัง จุดอ่อนที่เน้นย้ำ อาทิ แจ้งวัฒนะ แถวโลตัส หลักสี่ วงเวียนบางเขน แนวก่อสร้างรถไฟฟ้า ให้มีเจ้าหน้าที่ประจำ 

ทั้งนี้ ฝากประชาชนช่วยกันดูแลเรื่องขยะ เพราะปัญหาส่วนหนึ่งที่เจอคือเรื่องขยะอุดตันในท่อระบายน้ำ เพราะฉะนั้น อย่าเทพวกน้ำมันหรือเศษอาหารต่าง ๆ ลงท่อ อย่าไปวางขยะริมถนน เพราะเวลาฝนตกขยะที่อยู่ริมถนนจะไหลลงไปปิดท่อ ถ้าเป็นไปได้หากบริเวณดังกล่าวมีคอกเขียว ให้นำขยะใส่ถุงมัดให้มิดชิดแล้ววางลงคอกเขียวตามเวลา ถ้าไม่มีคอกเขียว ขอให้เก็บไว้ในบ้านเป็นแก้มลิงก่อน แล้วค่อยนำออกมาวางตามเวลาและตรงจุดที่รถจะมาเก็บ พยายามอย่าให้ขยะเกลื่อนกลาด ขอให้ช่วยดูแลพื้นที่ของตัวเอง คิดว่าน่าจะช่วยในเบื้องต้นได้

ในส่วนของการก่อสร้าง กังวลว่าจะมีเรื่องเศษอิฐ เศษปูน หรือการตัดท่อระบายน้ำ ไปปิดทางน้ำ เช่น กรณีคูน้ำวิภาวดี วันก่อนที่ท่วมบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ปรากฏว่าเกิดจากการก่อสร้างคูน้ำวิภาวดีของกรมทางหลวง ซึ่งมีการไปปิดทางน้ำอยู่จุดหนึ่ง ตอนนี้เราก็ได้ไปทะลวงแล้ว พร้อมได้สั่งการผู้เกี่ยวข้องให้โฟกัสลงไปแก้ปัญหาจุดพวกนี้อย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม เป็นความโชคดีฝนไม่เยอะในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นปัญหาบางจุดก่อนและสามารถเร่งเข้าไปแก้ปัญหาพวกนี้ให้ละเอียดขึ้น 

ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียนปีที่แล้ว 737 จุด หากปีนี้น้ำท่วมก็คงจะท่วมในจุดเดิมบางส่วน ซึ่งก็ได้เข้าไปปรับปรุงในหลายจุดแล้ว เชื่อว่าจะบริหารจัดการได้ดีขึ้น แต่ทุกอย่างต้องขึ้นกับปริมาณฝนด้วย ถ้าฝนตกเยอะอาจต้องใช้เวลาในการระบายน้ำระยะหนึ่ง แต่ทุกคนก็ทำงานอย่างเต็มที่

เล็งเปิดพื้นที่ชุมนุมสาธารณะตามระบอบประชาธิปไตยเพิ่มแถวรัฐสภา ในวันที่ 13 ก.ค. พร้อมชวนเที่ยว BMA EXPO 14 ก.ค. นี้ ที่อาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ

(10 ก.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเลือกนายกรัฐมนตรี  ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค.นี้ ว่า ได้มีการประสานความร่วมมือกับทางตำรวจนครบาล โดยอาจประกาศพื้นที่ชุมนุมบริเวณแถวรัฐสภา ซึ่งมีพื้นที่ของกรุงเทพมหานครอยู่ เป็นศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ 4 - 5 ไร่ เพื่อให้เป็นพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ สำหรับผู้ไปให้กำลังใจหรือผู้ที่จะชุมนุม ให้เป็นจุดแก้มลิงไว้รองรับประชาชนทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้การจัดการบริหารพื้นที่ได้ดีขึ้น และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย คาดว่าจะสามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 500 - 600 คน อย่างไรก็ตาม จะมีการดูรายละเอียดอีกครั้งก่อนจะมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ 

นอกจากนี้ วันที่ 14 ก.ค. 66 จะมีการเปิดงาน BMA Expo 2023 ในเวลา 13.00 น. ซึ่งเราจัดอย่างประหยัด ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ค. ธีมงานคือสร้างความหวังให้คนกรุงเทพฯ เชื่อว่าอนาคตกรุงเทพฯ จะดีขึ้น โดยจะเล่าเรื่องเทคโนโลยี ตลอดจนแผนต่าง ๆ ใน 9 ด้าน 9 ดี ณ อาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ (โรงงานผลิตยาสูบ 5) สวนเบญจกิติ หากมีเวลาอยากชวนให้ไปเยี่ยมชมกัน    

ผู้ว่าฯ กทม. สั่งปรับระบบจัดเก็บขยะใหม่ให้เห็นผลภายใน 1 เดือน จุดไหนไม่ครบ 2 ครั้ง/สัปดาห์ ให้แจ้งมาที่ Traffy Fondue

(10 ก.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเรื่องการจัดเก็บขยะ ว่า  จากนโยบายที่ได้ดำเนินการใน 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งการรณรงค์ Zero Waste ที่เราเข้าไปส่งเสริมภาคเอกชนและชุมชนต่าง ๆ ให้มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และโครงการไม่เทรวม ที่ส่งเสริมให้ประชาชนแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง ข้อมูลปัจจุบันได้ขยะเปียกที่นำไปทำปุ๋ยหมักภายใต้โครงการไม่เทรวมอยู่ที่ประมาณ 70 ตัน/วัน ที่เหลือเป็นความร่วมมือของภาคเอกชนและอาคารสำนักงานต่าง ๆ ซึ่งมีการแยกขยะที่ต้นทางด้วย

สำหรับตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ปริมาณขยะที่จัดเก็บได้เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการที่เรารณรงค์ให้เอกชนรายใหญ่มาร่วมกันแยกขยะ ทำ Zero Waste โดยปริมาณขยะปี 66 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 65 ดังนี้  เดือน ก.พ. ลดลง 199 ตัน/วัน 5,572 ตัน/เดือน  เดือน มี.ค. ลดลง 273 ตัน/วัน 8,463 ตัน/เดือน  เดือน เม.ย. ลดลง 318 ตัน/วัน 9,540 ตัน/เดือน  เดือน พ.ค. ลดลง 713 ตัน/วัน 22,103 ตัน/เดือน  และเดือน มิ.ย. ลดลง 719 ตัน/วัน 21,570 ตัน/เดือน ซึ่งรวมลดลง 67,248 ตัน/เดือน ประหยัดงบประมาณได้กว่า 127.77 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่มีเทรนด์ที่ดีต่อเนื่อง ซึ่งแสดงถึงความสำเร็จของทุกคนที่ร่วมมือกัน และจะนำไปสู่การเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะสามารถลดปริมาณขยะที่จะไปสู่หลุมฝังกลบหรือเผา 

ส่วนปัญหาที่บางพื้นที่ยังเก็บขยะได้ไม่ดี เช่น จุดบางจุด หมู่บ้านบางหมู่บ้าน ที่อาจมีการเก็บสัปดาห์ละวัน ได้มีจัดเก็บข้อมูล ทั้งจำนวนรถ จำนวนบุคลากร ระบบจัดเก็บขยะเป็นอย่างไรในแต่ละเขต พบว่า ปัจจุบันจำนวนรถขยะเพียงพอกับปริมาณขยะของทุกเขต กรอบอัตรากำลังพนักงานขับรถและพนักงานเก็บขยะไม่สัมพันธ์กับจำนวนรถเก็บขนมูลฝอย เขตชั้นนอกมีการขยายตัวของเมืองสูงแต่อัตรากำลังยังเท่าเดิม ทำให้ไม่สามารถใช้รถจัดเก็บขยะรอบที่ 2 ได้ทุกคัน การขยายตัวของเมืองทำให้เหลือรอบการจัดเก็บ 1 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อให้สามารถบริการได้ทั้งพื้นที่

เมื่อนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ และหาแนวทางบริหารจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บมูลฝอย จะได้แนวทางหลัก ๆ ดังนี้  1. ถนนสายหลัก ถนนสายรอง (จุดทิ้งขยะบนทางเท้า) ให้จัดเก็บทุกวัน  2. ถนนขนาดเล็ก ชุมชน (ตามระเบียบ) วัด สถานที่ราชการ ให้จัดเก็บ 2 - 3 ครั้ง/สัปดาห์  และ 3. ตลาด หมู่บ้าน คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน ห้างฯ ให้จัดเก็บ 2 - 3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือมากกว่า โดยภายใน 1 เดือน จะต้องให้เห็นการปรับปรุงอย่างชัดเจน ซึ่งนโยบายคือ ปรับพื้นที่เก็บขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับจำนวนรถจากเขตที่มากเกิน ไปยังเขตที่รถมีจำนวนไม่เพียงพอ หรือลดจำนวนการเช่า รถอัดท้าย (2 ตัน และ 5 ตัน) ต้องใช้ให้ได้ 2 เที่ยว/วัน ใช้บุคลากร 2 ชุด รถยกภาชนะ (3 ลบ.ม. และ 8 ลบ.ม.) ใช้รถมากกว่า 2 เที่ยว ใช้ พขร. 1 คน/วัน เกลี่ยอัตรากำลังระหว่างเขต พิจารณาให้เงินค่าอาหารทำการนอกเวลา (OT) สำหรับบุคลากรที่อาสา ซึ่งจากการที่ได้ทานข้าวกับพนักงานทุกสัปดาห์พนักงานกวาด/เก็บขนมูลฝอยหลายคนก็อยากจะได้รายได้เพิ่ม ยินดีที่จะทำ OT เพิ่ม และให้จัดทำแผนปรับปรุงการจัดเก็บขยะ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ ระบุพื้นที่ วันเก็บ เวลาจัดเก็บให้ชัดเจน

หากภายใน 1 เดือน ยังมีปัญหาเรื่องเก็บขยะไม่ครบถ้วน เช่น จัดเก็บแค่ 1 ครั้ง/สัปดาห์ ให้แจ้งมาที่ Traffy Fondue เราจะได้มีฐานข้อมูล และไปเร่งดำเนินการให้ นอกจากนี้ อยากจะขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้ช่วยแยกขยะ เป็นขยะเปียกกับขยะแห้ง หรือถ้าเราสามารถแยกขยะรีไซเคิลออก เช่น ขวดพลาสติก PET หรือกระดาษ ไปขายซาเล้งได้ ก็จะทำให้การแยกขยะท้ายรถของพนักงานน้อยลง รถขยะก็จะจัดเก็บได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือหากในหมู่บ้านสามารถนำขยะมากองรวมกันเป็นจุด หรือมีการลากขยะมารวมที่จุด ก็จะทำให้การจัดเก็บขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการให้ค่าตอบแทนสำหรับคนที่ลากขยะมาที่จุดรวม (อาสาสมัครชักลากมูลฝอย) ด้วย ซึ่งหากได้รับความร่วมมือจากทุกคน เชื่อว่าจะเห็นการพัฒนาที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก