In Bangkok
ผู้ว่าฯกทม.เดินหน้าโครงการด้านสุขภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนกรุงเทพฯ
กรุงเทพฯ-(11 ก.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 5/2566 โดยมี รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง และผ่านระบบออนไลน์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งผลักดันโครงการที่ค้างอยู่ให้เดินหน้าต่อ เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน
สำหรับการประชุมวันนี้ ที่ประชุมได้รายงานเพื่อทราบเกี่ยวกับหนังสือจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรื่อง การจัดสรรค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1. การใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครสามารถนำไปใช้จ่ายได้กับประชาชนทุกคนที่อยู่ในพื้นที่โดยไม่จำกัดเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น และ 2. ขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาเกี่ยวกับเงินที่จะได้รับจัดสรรจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและการสมทบเงิน ทั้งนี้ มติที่ประชุมรับทราบ
จากนั้น ที่ประชุมได้เสนอพิจารณาโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ประเภท 6(2) จำนวน 2 โครงการ ดังนี้
โครงการที่ 1 โครงการส่งเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในการดูแลสุขภาพตนเอง โดยมูลนิธิชีวิตพัฒนาในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ งบประมาณ 152,880 บาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคและอาการที่เกิดขึ้นตามระบบภายในร่างกาย อันจะนำไปสู่การดูแลสุขภาพตนเองได้ และเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการฝึกปฏิบัติการดูแลสุขภาพตนเองที่ถูกต้องเพื่อป้องกันโรคและอุบัติภัยต่าง ๆ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 360 คน แบ่งกิจกรรมเป็น 6 ครั้ง ครั้งละ 1 วัน โดยเนื้อหาแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถเลือกเข้าร่วมได้ตามความสนใจ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ พร้อมให้ความเห็นว่า โครงการดังกล่าวมีเนื้อหาที่น่าสนใจ มีหัวข้อหลากหลาย ควรปรับรายละเอียดโครงการให้ชัดเจนว่าผู้สูงอายุสามารถร่วมกิจกรรมซ้ำได้หรือไม่ ตัวชี้วัดควรชัดเจนกว่านี้ รวมถึงให้มีการเชื่อมโครงการกับระบบ Bangkok Health Zoning เพิ่มระบบบริหารจัดการข้อมูลที่สามารถเชื่อมกับชมรมผู้สูงอายุ/ศูนย์สร้างสุขทุกวัย และให้มีการลงทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเป็นฐานข้อมูลในอนาคตด้วย
โครงการที่ 2 โครงการสร้างเสริมสุขภาพทางร่างกายและจิตใจคนพิการทางสติปัญญาโดยผู้ดูแลที่มีความรู้ความสามารถในการดูแล โดยชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญากรุงเทพมหานคร (จตุจักร) งบประมาณ 317,225 บาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ดูแลมีความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพทางกายและจิตใจของคนพิการทางสติปัญญา มีความสามารถในการดูแลคนพิการทางสติปัญญา และสามารถจัดการความเครียดสะสมที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองได้ กำหนดพื้นที่ดำเนินการ 20 เขต ได้แก่ เขตจตุจักร ดินแดง บางเขน หลักสี่ บึงกุ่ม สายไหม ลาดพร้าว สะพานสูง สวนหลวง ดอนเมือง ทวีวัฒนา ป้อมปราบศัตรูพ่าย ราชเทวี ปทุมวัน มีนบุรี ธนบุรี บางพลัด บางแค คลองสามวา และบางขุนเทียน กลุ่มเป้าหมาย รวม 80 คน (40 คู่) คือ ผู้ดูแล และคนพิการทางสติปัญญา ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ พร้อมให้ข้อสังเกตว่าควรดำเนินการทั้ง 50 เขต หรือไม่ รวมถึงให้ความเห็นว่าควรปรับรายละเอียดโครงการ รายละเอียดกิจกรรม รายละเอียดตัวชี้วัด เพื่อให้มีความชัดเจนและเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และควรปรับวัตถุประสงค์ให้มีความครอบคลุมถึงคนพิการ นอกจากนี้ ให้พิจารณาจัดทำกลุ่มสำหรับติดต่อสื่อสารเพื่อให้ผู้ดูแลสามารถหารือหรือสอบถามกับพี่เลี้ยงหรือทีมแพทย์ได้หลังจบการอบรม และให้มีการเชื่อมโครงการกับระบบ Bangkok Health Zoning ด้วย
ต่อมา ที่ประชุมได้นำเสนอร่างแนวทางการขยายระยะเวลาแผนงานหรือโครงการหรือกิจกรรมกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร และนำเสนอการจัดสรรกรอบวงเงินให้สำนักงานเขต งบประมาณ พ.ศ. 2567 ในอัตรา 45 บาทต่อหัวประชากร จำนวน 7,627,139 คน (สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ UC 3,504,090 คน และนอกสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ NON UC 4,123,049 คน) ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ