In Bangkok
'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่เขตจตุจักรติดตามงาน ทะเบียนบัตร-ตรวจแยกขยะ-เช็กฝุ่นจิ๋ว
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯจักกพันธุ์ ลงพื้นที่เขตจตุจักร ติดตามงานทะเบียนบัตร เตรียมระบบ BMA-TAX ตรวจแยกขยะเขตจตุจักร เช็กฝุ่นจิ๋วอู่พ่นสีอีซูซุ สำรวจ Hawker Center ตลาดกรีนวินเจ กวดขันผู้ขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้ารัชดาฯ 36 ชมคัดแยกขยะ SIBA กำชับผู้รับจ้างเร่งรัดโครงการสวนจากภูผาสู่มหานที
(11 ก.ค.66) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตจตุจักร ประกอบด้วย
ติดตามการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตจตุจักร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนงานการทำงานทั้งหมด ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที ขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวันและไม่รวมเวลารอคอย ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน พร้อมทั้งให้คำแนะนำและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว จากนั้นได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเข้าใช้งานในระบบ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอายุในการใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เขตฯ มีที่ดิน 51,748 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 66,045 แห่ง ห้องชุด 69,072 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 186,865 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว
พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะภายในอาคารสำนักงานเขตจตุจักร ซึ่งมีข้าราชการและบุคลากร 230 คน มีวิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายคัดแยกขยะรีไซเคิล ใส่ถังที่เตรียมไว้ตามโครงการไม่เทรวม ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวันศุกร์ 2.ขยะอินทรีย์ เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายคัดแยกขยะอินทรีย์ ใส่ถังเศษอาหารที่เตรียมไว้ตามโครงการไม่เทรวม ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวัน 3.ขยะทั่วไป เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายนำขยะที่เหลือจากการคัดแยกขยะรีไซเคิลและขยะอินทรีย์ใส่ในถังขยะทั่วไป แม่บ้านที่ประจำอยู่แต่ละชั้น จัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ทั้ง 3 ประเภทรวมกัน ก่อนคัดแยก 86 กิโลกรัม/วัน ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 59 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 0.35 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน
ตรวจติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ตรีเพชร อีซูซุ จำกัด ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ โดยได้ตรวจพื้นที่บริเวณห้องอบและพ่นสี ทั้งนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ 18 แห่ง ประเภทกิจการชุบโลหะ 2 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 4 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 7 แห่ง ประเภทตรวจวัดควันดำ 6 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
สำรวจพื้นที่ Hawker Center ตลาดกรีนวินเจ รัชโยธิน ถนนรัชดาภิเษก ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค และอยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ สำหรับตลาดกรีนวินเจ รัชโยธิน ถนนรัชดาภิเษก สามารถรองรับผู้ค้าได้ 20 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-24.00 น. จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 1 จุด บริเวณตลาดปลาสวยงาม ถนนกำแพงเพชร 4 ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้ามิกซ์จตุจักรถึงทางเท้าลานจอดรถห้างเจเจมอลล์ ผู้ค้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 110 ราย ได้แก่ 1.ถนนกำแพงเพชร 3 ผู้ค้า 72 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 2.หน้าท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ถนนเทศบาลนิมิตรเหนือ ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 3.ปากซอยพหลโยธิน 24 ถนนพหลโยธิน ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-16.00 น. และ 4.ปากซอยรัชดาภิเษก 32 ถนนรัชดาภิเษก ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
กวดขันผู้กระทำผิดจากการฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า บริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 36 (ซอยเสือใหญ่อุทิศ) ซึ่งกรุงเทพมหานครได้นำระบบ BMA AI CAMERA เป็นการใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ภาพ (Image Processing) ร่วมกับกล้อง CCTV ของกรุงเทพมหานคร ผ่านระบบโครงข่าย Fiber และใช้ศูนย์ข้อมูล CCTV ของกรุงเทพมหานคร ในการตรวจสอบรถจักรยานยนต์ที่มีการขับขี่บนทางเท้า และอ่านป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ เข้าระบบฐานข้อมูล จากสถิติการตรวจจับโดยกล้อง AI บริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 36 เขตจตุจักร ตั้งแต่วันที่ 1-10 กรกฎาคม 2566 พบผู้ฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า จำนวน 151 ราย ทำหนังสือเชิญพบเพื่อให้ถ้อยคำไปแล้ว จำนวน 114 ราย อยู่ระหว่างทำหนังสือเชิญ จำนวน 37 ราย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสันติราษฎร์ ในพระอุปถัมภ์ฯ (SIBA College) ซอยพหลโยธิน 24 พื้นที่ 5 ไร่ มีนักเรียน 920 คน บุคลากรทางการศึกษา 70 คน และพนักงานสถานที่ 10 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2556 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ นักเรียนคัดแยกขยะอาหารวิทยาลัยฯ นำส่งเกษตรกรเลี้ยงปลาทุกๆ 3 วัน/สัปดาห์ 2.ขยะรีไซเคิล นักเรียนและวิทยาลัยฯ คัดแยกขยะรีไซเคิลส่งจำหน่ายเดือนละ 1 ครั้ง 3.ขยะอันตราย วิทยาลัยฯ รวบรวมขยะอันตราย เพื่อส่งให้เขตฯ ทุกๆ 15 วัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0.1 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.1 กิโลกรัม/วัน
ติดตามโครงการก่อสร้างสวนจากภูผาสู่มหานที ถนนกำแพงเพชร 3 พื้นที่ 10 ไร่ อยู่ภายในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ซึ่งเดิมมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้ให้เอกชนเช่าพื้นที่ดังกล่าวจัดทำโครงการตลาดนัด JJ-Green ต่อมาได้สิ้นสุดสัญญาเช่าพื้นที่ มูลนิธิฯ จึงปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนป่ากลางกรุง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยว่าจ้าง บริษัท ฉมา โซเอน จำกัด เป็นผู้รับจ้างออกแบบโครงการ และได้ส่งมอบรูปแบบก่อสร้างให้แก่สำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อขอจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้าง โดยแนวความคิดในการออกแบบ ได้น้อมพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ป่าของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และนำเอาแนวพระราชเสาวนีย์ “ปลูกป่าในใจคน” มาเป็นแนวความคิดหลักในการออกแบบ โดยสวนแห่งนี้จะเป็นสถานที่เก็บรวบรวมพรรณไม้ต่างๆ จากทั่วประเทศ พรรณไม้ทรงปลูกในสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่พรรณไม้บนที่สูง จนถึงพรรณไม้ในที่ลุ่ม ตามแนวคิด “จากภูผาสู่มหานที” โดยเป็นการสร้างให้เกิดระบบนิเวศป่าที่สมบูรณ์ในพื้นที่โครงการ รวมทั้งมีพื้นที่สำหรับฝึกอบรมเยาวชนเกี่ยวกับการปลูกป่า พื้นที่พักผ่อนและสถานที่ทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมได้จ้างเหมา บริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด ดำเนินงานโครงการก่อสร้าง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้ดูแลบำรุงรักษาต้นไม้และสนามหญ้าที่ได้ปลูกไว้แล้ว แก้ไขในส่วนของทางเดินที่เป็นแอ่งมีน้ำท่วมขัง พร้อมทั้งเร่งรัดการทำงานในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งผู้รับจ้างยืนยันว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคม 2566
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตจตุจักร สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล