In Bangkok
เห็นชอบแผนป้องกันแก้ปัญหายาเสพติด ในพื้นที่กทม.2565-70ชูชุมชนเข้มแข็ง
กรุงเทพฯ-รองปลัดกทม. เห็นชอบแผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 - 2570 เตรียมจับมือ 13 หน่วยงานเดินหน้าโครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่
(12 ก.ค.66) เวลา 13.30 น. : นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2566 โดยมี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักเทศกิจ สำนักการศึกษา ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด คณะกรรมการป้องกันและปราบยาเสพติด ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. 2 ดินแดง
ที่ประชุมขอเห็นชอบแผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 - 2570 ซึ่งกำหนดทิศทางและกรอบการดำเนินงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และนำไปสู่การจัดการปัญหายาเสพติดมีให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้วิสัยทัศน์ “กรุงเทพมหานครปลอดภัยจากยาเสพติดด้วยเครือข่ายความร่วมมือที่มีศักยภาพ” โดยมีพันธกิจ 1.สร้างการรู้เท่าทันและความสามารถในการรับมือต่อปัญหายาเสพติดให้แก่ประชาชนได้ 2.สกัดกั้นและทำลายเครือข่ายยาเสพติดในพื้นที่ 3.ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพและสวัสดิการทางสังคมของผู้ใช้ยาเสพติดตามสิทธิพื้นฐาน เพื่อการลดอันตรายจากยาเสพติดอย่างครอบคลุม 4.พัฒนาศักยภาพเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ เพื่อควบคุมปัญหายาเสพติด ทั้งด้านการค้าและการแพร่ระบาดยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มิให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนในสังคม และเพื่อพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายภาพรวม 2 เป้าหมาย เป้าหมายที่ 1 ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนในสังคม และเป้าหมายที่ 2 แนวทางการจัดการปัญหายาเสพติดของหน่วยงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีความสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 – 2570 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพมหานครนำแผนไปใช้ในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อไป
ต่อมาที่ประชุมขอเห็นชอบ (ร่าง) คู่มือการดำเนินงานโครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งกรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะร่วมกันดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างครบวงจร ทั้งด้านการปราบปรามผู้ค้าผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาล และกระบวนการบำบัด โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง (CBTX)และป้องกันเด็กและเยาวชนในชุมชนไม่ให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมทั้งติดตามดูแลช่วยเหลือ ฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้เสพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564
ในการดำเนินงานคณะทำงานโครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ได้จัดทำคู่มือการดำเนินงานโครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานให้เป็นในทิศทางเดียวกันขอทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และเห็นควรมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานโครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ จำนวน 13 หน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กองทัพอากาศ มูลนิธิรักษ์ไทย กลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (APASS) องค์กรบางกอกเรนโบว์ บริษัท ครับ คอมมูนิตี้ (ไทยแลนด์) จำกัด และสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) คู่มือการดำเนินงานโครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานโครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพมหานครของทั้ง 13 หน่วยงาน และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษาข้อมูลการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานโครงการ ให้มีความสอดคล้องและครบถ้วน และประสานทั้ง 13 หน่วยงาน เพื่อดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ต่อไป
ทั้งนี้ รองปลัดกรุงเทพมหานคร มอบหมายสำนักงานเขต เข้มงวด กวดขัน สถานบริการและสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการในพื้นที่ เนื่องจากพบสถานประกอบการบางแห่ง ฝ่าฝืนกฎหมายโดยยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยเน้นย้ำการตรวจในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน และในส่วนสถานบริการให้ตรวจหลังเวลาที่กฎหมายอนุญาต ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ข้อ 4 ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการสถานบริการหรือสถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ 1.ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ 2.ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ 3.เปิดทำการเกินกว่าเวลาตามที่มีกฎหมายบัญญัติ 4.ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่ากำหนดเวลาตามที่มีกฎหมายบัญญัติ 5.ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการพกพาอาวุธ วัตถุระเบิด หรือยาเสพติดเข้าไปในสถานที่ของตน รวมถึงพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรายงานผลข้อเท็จจริงมายังสำนักอนามัยทุกวันที่ 25 ของเดือน