In Bangkok

'บางแค'นำร่องปรับแผนการจัดเก็บขยะ เพิ่มอัตรากำลังให้เพียงพอต่อการทำงาน 



กรุงเทพฯ-(12 ก.ค.66) นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ประธานการประชุมการบริหารจัดการเก็บขยะในพื้นที่นำร่องเขตบางแค โดยมี นายณรงค์ ตาปสนันท์ ผู้อำนวยการเขตบางแค พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางแค ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมเพชรเกษม เขตบางแค 

สืบเนื่องจากการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา สำนักสิ่งแวดล้อมได้รายงานถึงประสิทธิภาพในการจัดเก็บขยะของสำนักงานเขต ซึ่งพบว่าบางสำนักงานเขตยังมีปัญหาในเรื่องขยะตกค้าง เนื่องจากการขาดแคลนอัตรากำลังพนักงานขับรถและพนักงานประจำรถ อีกทั้งพื้นที่เขตชั้นนอกมีการขยายตัวของเมืองสูง ทำให้บุคลากรไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 

ซึ่งเขตบางแค มีพื้นที่ 44.45 ตร.กม. แบ่งออกเป็น 4 แขวง ชุมชนในพื้นที่ จำนวน 47 ชุมชน ได้แก่ แขวงบางไผ่ พื้นที่ 14.67 ตร.กม. จำนวน 11 ชุมชน แขวงบางแคเหนือ พื้นที่ 12.06 ตร.กม.จำนวน 13 ชุมชน แขวงหลักสอง พื้นที่ 11.24 ตร.กม. จำนวน 14 ชุมชน แขวงบางแคพื้นที่ 6.48 ตร.กม. จำนวน 9 ชุมชน บ้านเรือน 96,763 หลังคาเรือน ประชากร 191,985 คน หมู่บ้านจัดสรร 145 โครงการ จำนวน 31,361 หลังคาเรือน อาคารชุด 47 อาคาร จำนวน 18,114 ห้อง ตลาดในพื้นที่ 19 แห่ง ตลาดประเภทที่ 1 ตลาดที่มีโครงสร้าง 4 แห่ง ตลาดประเภทที่ 1 ตลาดที่ไม่มีโครงสร้าง 15 แห่ง 

ในที่ประชุมได้รายงานปัญหาและอุปสรรคการจัดเก็บขยะในพื้นที่เขตบางแค คือการขาดแคลนอัตรากำลัง ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะตกค้าง ได้กำหนดพื้นที่จัดเก็บขยะให้ครอบคลุมทุกจุด ปรับปรุงเส้นทางรถเก็บมูลฝอย ปรับความถี่ในการจัดเก็บขยะให้เหมาะสมกับสถานที่ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ จัดประเภทรถเก็บขยะให้เหมาะสมกับปริมาณขยะ จัดบุคลากรประจำรถตามเกณฑ์มาตรฐาน จัดหาบุคลากรเพิ่มเติมให้เพียงพอ ในส่วนของแผนระยะสั้น จัดคนงานกวาดไปชักลากขยะในจุดที่มีขยะตกค้าง รณรงค์ขอความร่วมมือให้มีจุดพักขยะในหมู่บ้าน สำหรับแผนระยะยาว จ้างอาสาสมัครชักลากมูลฝอยในจุดที่รถเก็บขยะไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ นอกจากนี้เมื่อมีการขออนุญาตให้เขตฯ เข้าจัดเก็บขยะในหมู่บ้านหรือคอนโดที่สร้างขึ้นใหม่ ได้เสนอแนวคิดให้มีจุดพักขยะเพียงจุดเดียว ไม่เข้าเก็บเป็นรายหลัง เพื่อลดภาระในการจัดเก็บขยะ เช่น หมู่บ้านโกลเด้นทาวน์ เพชรเกษม-เลียบคลองทวีวัฒนา ได้นำร่องในการตั้งจุดพักขยะเพียงจุดเดียวในโครงการ 

ทั้งนี้ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ปรับแผนการจัดเก็บขยะในพื้นที่ จัดทำตารางการจัดเก็บขยะแบบใหม่ โดยเปรียบเทียบกับตารางการจัดเก็บขยะแบบเก่า ปรับปรุงเส้นทางในการจัดเก็บขยะ ทั้งถนนสายหลัก ถนนสายรอง ชุมชน หมู่บ้าน คอนโด ตลาด วัด สถานที่ราชการ อาคารสำนักงาน ห้างร้าน รวมถึงพิจารณาเพิ่มอัตรากำลังพนักงานขับรถเก็บขนมูลฝอย พนักงานประจำรถเก็บขนมูลฝอยให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน