In Bangkok
สภากทม.เห็นชอบตั้งคกก.วิสามัญศึกษา ความคุ้มค่าซ่อมแซมไฟฟ้าในกรุงเทพฯ
กรุงเทพฯ-ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2566 : นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง เสนอญัตติขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาความคุ้มค่าในการซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างและแนวทางในการดำเนินการติดตั้ง เนื่องจากปัญหาไฟฟ้าสาธารณะดับ ชำรุด หรือเสื่อมสภาพจากการใช้งานมานานทั้งบริเวณถนน ชุมชนหรือจุดเสี่ยงต่าง ๆ เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรุงเทพฯ ต้องสว่างได้แก้ไขปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างในที่สาธารณะ โดยเปลี่ยนโคมไฟเดิมที่ดับหรือชำรุดเป็นโคมไฟ LED เพื่อลดจุดเสี่ยงอันตราย มีแสงสว่างเพียงพอตามมาตรฐาน ทั้งเป็นการลดใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซ Co2 ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้ 1.ซ่อมเองกรณีเร่งด่วนตามที่มีเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางต่าง ๆ 2.จ้างเอกชนซ่อมในกรณีเร่งด่วน และ 3.ประสานการไฟฟ้านครหลวงซ่อม
จากข้อมูลการดำเนินการพบว่าวิธีการจ้างเอกชนใช้งบประมาณสูงกว่าวิธีการอื่น ดังนั้น กรุงเทพมหานครควรประสานการไฟฟ้านครหลวงดำเนินการในกรณีถนนสาธารณะบางสายที่ไฟฟ้าส่องสว่างยังใช้งานได้ หรือกรณีไม่เร่งด่วนหรือกรณีไฟฟ้าส่องสว่างดับจำนวนน้อยกรุงเทพมหานครอาจเปลี่ยนหรือซ่อมเองก่อนแล้วประสานการไฟฟ้านครหลวงดำเนินการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและเป็นการใช้จ่ายงบประมาณอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ จึงขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาความคุ้มค่าในการซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างและแนวทางในการดำเนินการติดตั้งในที่สาธารณะ
“ตอนนี้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครไฟ LED หนึ่งดวง ราคาประมาณ 3,274.20 บาท เป็นราคาเฉพาะโคมไฟหากรวมค่าแรงอีก 800 บาท และการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุม IoT ราคาประมาณ 3,600 บาท รวมแล้วประมาณ 7,700 บาทต่อหนึ่งดวง ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีนโยบายในการติดตั้งไฟฟ้ารวมจำนวน 20,000 ดวง จริงอยู่ที่ว่าความปลอดภัยไม่สามารถคิดเป็นตัวเงินได้ ความสูญเสียก็ไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้เช่นกัน แต่ในการใช้งบประมาณย่อมต้องมีการพิจารณาถึงความคุ้มค่าที่จะใช้เงิน” ส.ก.กนกนุช กล่าว
ทั้งนี้มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตตินี้ในประเด็นการแก้ปัญหาให้ตรงจุดโดยติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างให้ตรงตามที่ประชาชนต้องการและครอบคลุม ระบบ IoT เซ็นเซอร์ติดตามการทำงานเป็นระบบที่ดีหากสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เลือกติดตั้งในจุดที่เหมาะสมจะมีความคุ้มค่ามากกว่า ขอให้ศึกษาและเตรียมความพร้อมให้มากกว่านี้ก่อนการดำเนินการติดตั้ง และในประเด็นไม่จำเป็นต้องใช้ระบบ IoT เพราะพี่น้องประชาชนพร้อมที่จะแจ้งเตือนให้ เพียงแต่ต้อง Support แก้ไขให้รวดเร็ว ประกอบด้วย
นางอนงค์ เพชรทัต ส.ก.เขตดินแดง นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย นายสุรจิตต์ พงศ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง นายณรงค์ รัสมี ส.ก.เขตหนองจอก นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องไฟฟ้าส่องสว่างเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้น มิติแรกเรื่องการซ่อมไฟที่ดับ หนึ่งปีที่ผ่านมาเราสามารถซ่อมไฟฟ้าที่ดับได้มากกว่า 30,000 ดวง แต่ก็ยังมีดวงที่ดับอีกจำนวนมาก อาทิ หนองจอกดับอยู่อีก 222 ดวง คลองสามวาดับ 180 ดวง ลาดกระบังดับ 239 ดวง ซึ่งต้องติดตามข้อมูลทุกวัน และต้องขออภัยในความล่าช้าเนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของการจัดจ้างและการเข้าไปดำเนินการ แต่เชื่อว่าตัวเลขจะดีขึ้นแน่นอน
ส่วนเรื่อง LED เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในอนาคตคงจะต้องมีการเปลี่ยนเป็น LED ทั้งหมด แต่จำเป็นต้องมี IoT หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม จริง ๆ แล้วหากเราดูเมืองทั่วโลกจะพบว่าได้ติดตั้ง LED เพื่อความประหยัดแต่คำถามที่ว่าจำเป็นต้องติดตั้ง IoT หรือไม่ เนื่องจาก LED ในอนาคตเซ็นเซอร์ของบ้านจะสามารถรับสัญญาณจากตัวอื่นได้ด้วย การติด LED 20,000 ดวง คือการที่เราจะมี Smart Pole (เสาไฟอัจฉริยะ) เพิ่มอีก 20,000 Smart Pole สามารถรับข้อมูลอื่น เช่น เซ็นเซอร์เรื่องน้ำท่วมโดยมีภาคเอกชนอื่นสนใจร่วมด้วย และจะส่งข้อมูลมาที่ IoT ของหลอดไฟ เพื่อกระจายสัญญาณออกไป หากมองในมุมหนึ่งหลอดไฟจะเป็น Smart City ในอนาคต ที่เราสามารถส่งผ่านข้อมูลเสาไฟได้ แต่แนวคิดเรื่องความคุ้มค่ากลางที่สภากรุงเทพมหานครจะเข้ามาช่วยดูถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ในแง่การบริหารเรามองระยะยาวอยากให้เมืองเป็น Smart City มีการส่งข้อมูลอย่างเมื่อไฟดับ บริษัทผู้รับเหมาเมื่อได้ข้อมูลจาก IoT ต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงภายในสามวันหากไม่ดำเนินการถือว่าผิดสัญญา การมี IoT จะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าไฟที่เราติดตั้งใหม่ทั้งหมดจะสว่างแน่นอน รวมถึงเป็นตัวแพลตฟอร์มที่จะทำ Smart City ในอนาคต
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาความคุ้มค่าในการซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างและแนวทางในการดำเนินการติดตั้ง จำนวน 17 ท่าน กำหนดระยะเวลาศึกษา 90 วัน