In Bangkok
'รองผู้ว่าฯวิศณุ'พาไปดูชมโซน'เดินทางดี' ส่งท้ายงานBMA EXPO 2023
กรุงเทพฯ-เมื่อ(16 ก.ค.66) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำชมโซน"เดินทางดี" ซึ่งนำมาจัดแสดงในงาน BMA EXPO 2023 ตามนโยบายของกรุงเทพมหานครคือการไปสู่เป้าหมาย Smart City ซึ่งหมายถึงการนำเอาข้อมูลและเทคโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้ดียิ่งขึ้น
เริ่มต้นที่แบบจำลองการจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยทำความเข้าใจเรื่องการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินจะไม่เหมือนกับเนื่องการจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินซึ่งดำเนินการโดยการไฟฟ้านครหลวงจะทำก่อน หลังจากนั้นจะเป็นการนำสายสื่อสารลงดินตาม ซึ่งการนำสายไฟฟ้าฟ้าลงใต้ดินต้องใช้งบประมาณสูง การไฟฟ้าฯเป็นเจ้าภาพมีเป้าหมายจะทำให้ได้ 230 กม. ในปี 2570 ขณะเดียวกันในระหว่างนั้นทาง กทม.ประสานความร่วมมือกับ กสทช.ในการจัดระเบียบสายสื่อสาร ทำระบบตัวยูห้อยมาใช้และจำกัดสายที่พาด 12 สาย โดยบริษัทที่จะมาพาดจะต้องขออนุญาตก่อน เดิมจะมีปัญหาหาเรื่องสายตายที่ไม่ได้ใช้งานเป็นจำนวนมาก แต่ต่อไปปัญหานี้ก็จะหมดไป
ส่วนหลอดไฟฟ้าแสงสว่างที่ กทม.เปลี่ยนใหม่เป็นหลอดแอลอีดี พร้อมเชื่อมต่อระบบ IOT เป็น Smart Lighting สามารถควบคุมสั่งการเพิ่ม-ลดความสว่างผ่านระบบได้ ตรวจสอบหลอดไฟที่ดับ และในอนาคตกำลังพัฒนา Smart Pole ส่งข้อมูลเซ็นเซอร์ต่างๆ ได้จากเสานี้ เช่น ตรวจวัดฝุ่น pm2.5 เรดาห์ตรวจรถและคนที่ผ่านไปมา รวมไปถึงตรวจระดับน้ำท่วมในถนน ซึ่งวางแผนจะทำ 5,000 เสาอัจฉริยะในปี 2567
นอกจากนี้ กทม.กำลังทำระบบควบคุมน้ำหนักรถที่ขึ้นสะพานซึ่งสามารถตรวจพบว่ารถคันไหนบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนดของกฎหมายที่อนุญาตให้ไม่เกิน 25 ตัน ต่อไปจะติดตั้งกระจายทั่วกทม.เพื่อควบคุมไม่ให้รถที่บรรทุกน้ำหนักเกินเข้ามาใช้เส้นทางในกรุงเทพฯ ซึ่งจะเป็นอันตรายและทำความเสียหายต่อตัวโครงสร้างถนน-สะพานและเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ โดย กทม.ได้ประสานกับกรมขนส่งทางบกและตำรวจในการออกใบสั่งและไม่ให้ต่อทะเบียนกับผู้ที่ฝ่าฝืน
ระบบควบคุมสัญญาณไฟเดิมที่การตั้งเวลาไม่สอดคล้องกับปริมาณจราจรที่แท้จริง ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อปรับอัลกอริทึมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จะช่วยให้การปล่อยสัญญาญไฟสัมพันธ์กับปริมาณรถที่แท้จริง ส่วนไฟจราจรอัจฉริยะตรงจุดทางข้าม เดิมจะมีเวลาบอกนับถอยหลัง แต่ต่อไปจะมีเซ็นเซอร์เพิ่ม เช่น กรณีมีวีลแชร์หรือคนข้ามค้างอยู่ ก็จะมีสัญญาณเตือนแจ้งและปรับสัญญาณไฟจราจรให้เหมาะสม เพิ่มความปลอดภัยตรงทางข้ามมากยิ่งขึ้น
กทม. ได้ประสานความร่วมมือกับกรมขนส่งทางบกให้แชร์ข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย คือ ข้อมูล Via bus ให้สามารถเชื่อมกับระบบ Thai Smile Bus ซึ่งเป็นของเอกชน โดยจะมีการปรับมาตรฐานการส่งข้อมูลจากตัวรถ จากเดิม 1 นาทีให้ถี่ขึ้นทุก 15 วินาที เพื่อให้ข้อมูลแม่นยำ ส่วนป้ายรถเมล์อัจฉริยะที่มีอยู่ในปัจจุบันมีการแจ้งข้อมูลรถเมล์แบบเรียลไทม์ และมี free wifi โดยนโยบายผู้ว่าฯ กทม.ให้เพิ่มให้มากขึ้นจากเดิม 250 ป้าย จะเพิ่มอีก 100 ป้ายในปี 2567 นี้ และจะขยายเพิ่มขึ้นต่อไปอีก
จำลองทางเท้าที่มีทางเชื่อมให้อยู่ในระนาบเดียวกัน สะดวกปลอดภัยสำหรับผู้ให้วีลแชร์ ต่อไปจะมีระบบล็อคจักรยานที่ไม่ต้องเสียบเข้าซอง แต่ให้จอดอยู่ในป้ายให้จอด พร้อมมีการปรับปรุงเส้นทางจักรยานให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้จักรยานและสอดคล้องกับการท่องเที่ยวย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ
"การเดินทางดี เริ่มจากออกจากบ้านทางเท้าดี มีจักรยานบริการ มี Feeder ที่เชื่อมต่อส่งคนเข้าระบบขนส่งสาธารณะหลัก เป็นการเชื่อมต่อการเดินทางแบบ Seamless ให้รู้สึกเหมือนไร้รอยต่อ นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการเดินทางใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นด้วย" รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวในตอนท้าย