In Global

'เอฟบีเอส'บริจาคเงินให้องค์กรการกุศล กว่า6.2หมื่นดอลลาร์ใน7ประเทศทั่วโลก



กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย-17 กรกฎาคม 2566 -เอฟบีเอส (FBS) โบรกเกอร์ระดับโลกที่ให้บริการในกว่า 150 ประเทศ ได้แสดงพันธสัญญาในการสร้างชุมชนที่ยืดหยุ่นและยืนหยัดได้ด้วยตนเอง โดยบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลในประเทศกำลังพัฒนา 7 แห่งรวมกันกว่า 62,000 ดอลลาร์ โดยเงินเหล่านี้มาจากการระดมทุนในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งจะเข้ามาสนับสนุนคนจากชุมชนด้อยโอกาสได้ราว 5,000 คนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไนจีเรีย อียิปต์ ตุรกี ปากีสถาน และเยเมน

เซเนีย โมลอดกินา ( Ksenia Molodkina) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดกลยุทธ์ของเอฟบีเอส กล่าวว่า "เอฟบีเอสมุ่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ของสหประชาชาติ โดยมีเป้าหมายในการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างสังคมที่มั่งคั่งและเท่าเทียมกันมากขึ้น เอฟบีเอสได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการกุศลในช่วงเดือนรอมฎอนอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2557 โดยระดมทุนและบริจาคเงินไปราว 1.3 ล้านดอลลาร์แก่องค์กรกว่า 30 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลาง ซึ่งส่งผลลัพธ์อันดีต่อชีวิตคนนับพัน เอฟบีเอสอาศัยการสนับสนุนจากลูกค้าของเรา เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายในโลกใบนี้"

เทรดเดอร์กว่า 29,000 รายจาก 17 ประเทศทั่วโลก ได้เข้าร่วมกิจกรรมการกุศลเอฟบีเอส เทรด แอนด์ เอด (FBS Trade & Aid) ต้อนรับเดือนรอมฎอนปี 2566 องค์กรเหล่านี้นำเงินที่ได้ไปใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น ทั้งครอบครัว นักเรียน และผู้สูงอายุ

ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิมายแคร์ (MyCare Foundation) สาขามาเลเซีย ได้นำเงินบริจาคของเอฟบีเอสไปใช้ในการสร้างฟาร์มปลาน้ำจืด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ชุมชนสร้างรายได้อย่างยั่งยืน โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ที่ย่านบันดาร์ตาซิก์เซอลาตันของกรุงกัวลาลัมเปอร์

ฮาจี กามารุล ฮาลิม สะครานี ( Haji Kamarul Halim Sakrani) ตัวแทนจากมูลนิธิมายแคร์ สาขามาเลเซีย กล่าวว่า "การสนับสนุนอันประเมินค่าไม่ได้ของเอฟบีเอส ช่วยให้เราสร้างโครงการเพาะเลี้ยงปลาระดับบุกเบิกได้ เพื่อให้ชุมชนแห่งนี้ได้รับคุณประโยชน์มากมายไม่รู้จบ โครงการนี้มีวิสัยทัศน์เรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่ เพราะเมื่อปลามีจำนวนเพิ่มขึ้น ชุมชนจะได้รับผลตอบแทนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น กำไรจากการขายปลาจะกลายเป็นเงินออมของชุมชน นับเป็นทรัพยากรทางการเงินซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในชุมชนของเรา ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงเงินทุนสำหรับการทำธุรกิจหรือความต้องการส่วนตัวต่าง ๆ ได้"

ในขณะเดียวกัน โครงการการกุศลที่เอฟบีเอสดำเนินการร่วมกับองค์กรอิสลามในไนจีเรียอย่างรามาดาน เมโม (Ramadan Memo) ยังมุ่งช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้คนจากกลุ่มเปราะบางกว่า 3,000 คนด้วย ทั้งหญิงหม้าย เด็กกำพร้า นักเรียนประถม และนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีปัญหาทางการเงิน โดยกีวา ฮาบีบ เอ (Giwa Habeeb A.) จากรามาดาน เมโม กล่าวว่า "เอฟบีเอสผนึกกำลังกับรามาดาน เมโม เพื่อแบ่งปันอาหารแก่ผู้ด้อยโอกาส บริจาคสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า แจกจ่ายกล่องเสื้อผ้าแก่หญิงม่ายและเด็กในชุมชนแออัด และสื่อการเรียนรู้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษาเพื่อช่วยสนับสนุนการศึกษาระดับรากหญ้า ตลอดจนช่วยเหลือผู้ประกอบการระดับสถาบันอุดมศึกษาเพื่อใช้ยกระดับธุรกิจ"

เอฟบีเอสยังคงมุ่งมั่นในการสนับสนุนโครงการการกุศลที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับสวัสดิการสังคมและส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนา ความพยายามเหล่านี้สอดรับกับแผนพัฒนาชาติของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติรุ่งเรืองปี 2573 ในมาเลเซีย ยุทธศาสตร์ปี 2588 ของอินโดนีเซีย และแผนพัฒนาชาติปี 2564-2568 ของไนจีเรีย ซึ่งล้วนมีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรืองและเท่าเทียมกัน โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละราย รวมถึงบริษัทเอกชนอย่างเอฟบีเอส ก็เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อบรรลุวาระแห่งชาติเหล่านั้นได้