In Bangkok

ส.ก.ยานนาวาเสนอขอให้กทม.พิจารณา แนวทางเยียวยาผู้ประสบเหตุอัคคีภัย



กรุงเทพฯ-(19 ก.ค.66) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

ในวันนี้ นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาแนวทางการเยียวยาผู้ประสบเหตุอัคคีภัยในชุมชนของกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน เนื่องจากกรุงเทพมหานคร มีชุมชนจำนวน 2,010 ชุมชน เป็นชุมชนแออัดจำนวน 636 ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 30 ของชุมชนทั้งหมด มีสภาพเป็นอาคารบ้านไม้ที่ทรุดโทรม เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยที่รุนแรง ยากต่อการควบคุมเพลิง ที่อาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ถึงแม้กรุงเทพมหานครจะมีระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. 2536 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 พ.ศ. 2564 แต่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์ และอัตราของระเบียบดังกล่าวยังไม่เพียงพอและไม่ยั่งยืน เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านความมั่นคงต่อผู้อยู่อาศัยในชุมชน เนื่องจากส่วนมากมีอัตรารายรับต่ำกว่าเส้นความยากจน ไม่มีความพร้อมรับความเสี่ยงภัยใดๆ จึงขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาแนวทาง เยียวยาผู้ประสบเหตุอัคคีภัยในชุมชนของกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารให้ความสำคัญ ทุกครั้งที่มีเหตุอัคคีภัยจะมีการลงพื้นที่เสมอ และได้เน้นย้ำไปยังรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขต ให้ลงพื้นที่เพื่อให้เห็นปัญหาของประชาชน กรณีเหตุเพลิงไหม้ที่บ่อนไก่เมื่อลงพื้นที่แล้วพบปัญหาว่า ประชาชนไม่มีเตียงนอน ไม่มีห้องอาบน้ำ การจัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกล่าช้า รวมถึงเรื่องการจัดเจ้าหน้าที่แจ้งเหตุ เหล่านี้เราได้มีการนำมาปรับปรุงขบวนให้มีการช่วยเหลือได้รวดเร็วขึ้น โดยมี 2 รูปแบบคือ การช่วยเหลือระยะสั้นในการแจ้งเหตุความเสียหาย การหาที่พักชั่วคราว อาหาร ห้องน้ำ โดยเฉพาะนักเรียนที่เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้จะไม่มีชุดนักเรียนไปโรงเรียน ระยะถัดไปคือเงินช่วยเหลือเยียวยา ซึ่งข้อสังเกตของทางส.ก. เราจะไปดำเนินการปรับปรุงให้ดีขึ้น

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องการบริหารจัดการเวลาเกิดเหตุอัคคีภัย ที่ผ่านมาทางผู้อำนวยการเขตและส่วนงานปกครองอาจยังไม่สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นได้อย่างเป็นระบบได้มากเท่าที่ควร แต่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตและหัวหน้าฝ่ายปกครองร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการปรับระบบบัญชาการเหตุการณ์ ดังนั้นในการช่วยเหลือเบื้องต้นหน้างาน ในกรณีที่เป็นการอพยพ การตั้งศูนย์พักพิงจะเป็นระบบมากขึ้น ขณะนี้กรุงเทพมหานครกำลังเตรียมเรื่องทรัพยากรที่ใช้ช่วยเหลือในระยะฉุกเฉิน การใช้เตียงกระดาษ การทำห้องน้ำ การเดินปั๊มน้ำ ดูแลเรื่องมุ้ง อาหาร น้ำดื่ม และการจัดพื้นที่ในศูนย์พักพิงจะดีขึ้นและทำอย่างเป็นระบบ รวมทั้งร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในการบริหารจัดการเรื่องนี้

รองผู้ว่าฯ ทวิดากล่าวต่อไปว่า ในส่วนของความช่วยเหลือ การเยียวยาเป็นระเบียบที่ค่อนข้างเก่าคือเป็นระเบียบที่เฉพาะเจาะจงกับอัคคีภัย ซึ่งอัตราต่ำมาก บางอัตราต่ำกว่ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอัตราไม่เหมาะกับสภาพความเป็นจริง อีกทั้งในบางกรณีการเบิกจ่ายนั้นใช้ข้ามสาธารณภัยไม่ได้ กรณีภัยน้ำท่วมกลับไม่สามารถใช้ระเบียบเยียวยาของอัคคีภัยได้อย่างชัดเจน ดังนั้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้สั่งการให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานกฎหมายและคดี ร่วมกันยกร่างข้อบัญญัติเรื่องเงินสงเคราะห์ทั้งหมด ขณะนี้ร่างฯ ได้มีร่างขึ้นมาแล้วจะมีการปรับทั้งอัตราและการจ่าย ในเดือนสิงหาคม 2566 คณะทำงานยกร่างฯ จะปรับปรุงแก้ไขเพื่อนำเสนอต่อไป ปกติแล้วเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น อัตราค่าชดเชย เป็นการทำโดยระเบียบของกรุงเทพมหานครซึ่งมีอัตราที่ต่ำมาก ขณะนี้กำลังอยู่ในข้อบัญญัติที่ขอปรับ เรื่องค่าซ่อมบ้านโดยปกติจะอ้างถึงระเบียบกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกองทุน หลังละ 49,000 บาท ความช่วยเหลือจากมูลนิธิส่วนใหญ่จะเป็นการพักพิงชั่วคราวซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น

สำหรับการช่วยเหลือในระยะยาวคือการร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และสำนักงานทรัพย์สินฯ ในการหาพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่มีความเสียหาย ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินการแล้ว เมื่อแล้วเสร็จประชาชนกว่า 70 ครัวเรือนจะสามารถอยู่อาศัยได้ กรณีการจัดทำแบบนี้ เห็นด้วยและยินดีเป็นอย่างยิ่งถ้าทางสภากรุงเทพมหานครจะช่วยผลักดันและศึกษาในเรื่องนี้ เพราะโดยปกติจะมี 2 ลักษณะคือกองทุนภัยพิบัติและการประกัน ทั้ง 2 อย่างนี้จะมีลักษณะการใช้เงินที่แตกต่างกันแต่จะตั้งอยู่บนการทำค่าความเสี่ยง ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครทำแผนที่ความเสี่ยงเบื้องต้นโดยเฉพาะเรื่องอัคคีภัยเสร็จสิ้นแล้ว รอนำเข้าข้อมูลความเปราะบาง ลักษณะของมาตรฐาน ทรัพยากรในการตอบสนองต่อสถานการณ์ ท้ายนี้กรุงเทพมหานครกำลังร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง และเครือข่ายอาชีวะเทคนิค ในการปูพรมตรวจเบื้องต้นสภาพเครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟฟ้าและสภาพความเสี่ยงจากอาคารบ้านเรือนที่อาจมีเขม่าควันน้ำมันอยู่ในพื้นที่เสี่ยง 451 ชุมชนในเบื้องต้น และครอบคลุม 2,017 ชุมชนในระยะต่อไป