In Global
กรมปชส.พาคณะทูตสื่อฯผู้มีอิทธิพล30คน สัมผัสศาสตร์อาหารไทยชูSoft Power
กรมประชาสัมพันธ์ โดยสำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ จัดกิจกรรม“ศาสตร์แห่งอาหารไทย ส่งเสริม Soft Power เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ” (Culinary Experience “Wisdom of Thai Gastronomy to Promote Soft Power”) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ที่ ภัตตาคาร บลู เอเลเฟ่นท์ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ ผู้มีอิทธิพลทางความคิด จำนวน 30 คน เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อน Soft Power ด้านอาหารไทย เสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศ
โดยมีนางสุดฤทัย เลิศเกษม รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธานในช่วงเช้า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลงพื้นที่ตลาดสดสามย่าน เพื่อเรียนรู้วัตถุดิบสำคัญในการประกอบอาหารไทย จากนั้นรับฟังการบรรยายพิเศษ ประเด็น "การส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารไทยและผู้ประกอบการด้านอาหารไทยในต่างประเทศ” และ“ความหลากหลายของวัตถุดิบสู่ศาสตร์แห่งอาหารไทยในระดับสากล” จากนายพรวิช ศิลาอ่อน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และเชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ ผู้บริหารภัตตาคาร บลู เอเลเฟ่นท์และผู้ส่งออกเครื่องแกงไทยรายใหญ่ของไทย จากนั้นเรียนรู้การทำอาหารไทย ก่อนที่จะแบ่งกลุ่มแข่งขันทำเมนูข้าวซอย และตะโก้สาคู
ทั้งนี้ นางณัฐนันท์ รจนกร ผู้อำนวยการสำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ กล่าวสรุปภาพรวมของกิจกรรมในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์และนายณัฐภานุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ เป็นผู้มอบของรางวัลและใบประกาศ โดยมีนางสุดฤทัย เลิศเกษม รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในฐานะประธานกล่าวแสดงความยินดีและเน้นย้ำการผลักดัน Soft Power ด้านอาหารไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลมากยิ่งขึ้นนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจต่อไป
อนึ่งกรมประชาสัมพันธ์มีส่วนในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนวัฒนธรรม 5 F ซึ่งเป็น Soft Power ของไทยให้กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศได้แก่ 1) อาหาร (Food) 2) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3)การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ 5) เทศกาลประเพณีไทย (Festival) โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาหารประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารอันดับต้นๆ ของโลก และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ทั่วโลกได้รู้จักอาหารไทย มาจากนโยบาย "ครัวไทยสู่ครัวโลก” ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
โดยมีร้านอาหารไทยในต่างประเทศเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์อาหารไทยให้คนทั่วโลกได้รู้จักนำมาสู่การสั่งซื้อวัตถุดิบจากประเทศไทยจำนวนมากในแต่ละปี นอกจากนี้ อาหารไทยยังเป็นที่นิยมไปทั่วโลกโดยได้รับการจัดอันดับในระดับสากล
อาทิ CNN Travelจัดให้มัสมั่นเป็นอันดับที่ 1 เมนูอาหารที่ดีที่สุดในโลก เมื่อปี 2564 เช่นเดียวกับ Tasteatlas ยกให้ข้าวซอยเป็นอันดับ 1 ซุปที่ดีที่สุดจากนักรีวิวทั่วโลก เมื่อปี 2565โดยมีต้มยำและต้มข่าไก่ ติดอันดับด้วยอาหารไทยยังมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาสัมผัสประสบการณ์สตรีทฟู้ดที่เมืองไทย โดยกรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งใน "จุดหมายปลายทางอาหาร” ของโลกอีกด้วย
------------------------------------
แหล่งข้อมูล:https://www.facebook.com/plugins/post.php?href=https%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fnihaosawadeemedia%2Fposts%2Fpfbid0sXx7wnPhM6DwhSUUTq9LJdEgNpjQs2m9JzP4A3KjDXXaxHHgCdKeNd4LieMYm5L2l&show_text=true&width=500