In Bangkok
'จักกพันธุ์'ลงพื้นที่เขตพระนครติดตาม งานทะเบียนบัตร-ฝุ่นจิ๋วสายสีม่วง-แยกขยะ
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯกทม. ลงพื้นที่เขตพระนคร เดินเลาะริมคลองบางลำพูสำรวจพื้นที่ Hawker Center คุมเข้มค่าฝุ่นจิ๋วงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง จัดระเบียบผู้ค้าตลาดรวมยาง เล็งเพิ่มประสิทธิภาพงานทะเบียนบัตร เตรียมพร้อมระบบ BMA-TAX จัดเก็บรายได้ ตรวจคัดแยกขยะเขตพระนคร
(21 ก.ค.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพระนคร ประกอบด้วย
สำรวจ Hawker Center บริเวณริมคลองบางลำพู ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาจเป็นพื้นที่ว่างหรือตลาดเอกชน โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ สำหรับ Hawker Center บริเวณริมคลองบางลำพู (ถนนคนเดินบางลำพู เดินดี ศรีนคร) ตั้งแต่ศาลเจ้าพ่อหนู ถนนสามเสน ซอย 2 ถึงสะพานวันชาติ ถนนประชาธิปไตย ระยะทาง 283.60 เมตร เขตฯ ได้สำรวจผู้ค้าบริเวณริมคลองบางลำพู แบ่งออกเป็น ผู้ค้าฝั่งสะพานวันชาติ จำนวน 51 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.30-12.00 น. จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ขนาดแผงค้า 1.50-2.00 เมตร และผู้ค้าที่อยู่บริเวณศาลา จำนวน 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.30-10.00 น. จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ขนาดแผงค้า 1.50-2.00 เมตร โดยเขตฯ ได้เชิญผู้ค้ามาประชุมหารือร่วมกัน ในเบื้องต้นได้กำหนดหลักเกณฑ์ประเภทผู้ค้า ประกอบด้วย 1.ผู้ค้าเดิมที่ทำการค้า 2.ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากเขตฯ 3.ผู้ค้าย่านบางลำพู เงื่อนไขการทำการค้า ได้แก่ 1.ผู้ค้าเดิมขายได้ทุกวันในช่วงเช้า 2.ถนนคนเดิน ในเบื้องต้นกำหนดจัดกิจกรรมทุกวันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป โดยจะพิจารณาจากความพึงพอใจในการจัดกิจกรรมครั้งแรก ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนต่อไป
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ บริเวณหน้าไปรษณีย์บางลำพูบน ถนนสิบสามห้าง ซึ่งงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มีจุดก่อสร้างในพื้นที่เขตพระนคร จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1.ถนนสามเสน แขวงบ้านพานถม 2.ถนนสิบสามห้าง แขวงตลาดยอด และ 3.ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตามมาตรการป้องกันฝุ่นและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ติดตั้งรั้วรอบพื้นที่ก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำโดยรอบพื้นที่ก่อสร้างเพื่อดักจับฝุ่นละออง ฉีดพรมน้ำบนถนนในพื้นที่ก่อสร้าง ปิดคลุมกองวัสดุก่อสร้างในระหว่างรอการใช้งานหรือรอขนย้ายออกจากพื้นที่ โดยผู้ควบคุมงานได้จัดเจ้าหน้าที่ล้างทำความสะอาดถนน บริเวณพื้นที่ก่อสร้างและโดยรอบเป็นประจำ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง ทั้งนี้ เขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือน ๆ ละ 2 ครั้ง พร้อมทั้งกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณตลาดรวมยาง ถนนสามเสน เขตฯ พื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 30 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 1,141 ราย สำหรับตลาดรวมยาง ถนนสามเสน เป็นพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน ผู้ค้า 96 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-13.00 น. ซึ่งเขตฯ ได้จัดระเบียบผู้ค้าให้อยู่ในแนวเส้นที่กำหนด ไม่ให้มีการตั้งวางอุปกรณ์การค้ารุกล้ำผิวจราจร พร้อมทั้งนำป้ายไวนิลมาติดตั้งเพื่อความสวยงาม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า ขอความร่วมมือให้ช่วยกันทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน หรือในพื้นที่ Hawker Center ที่เขตฯ ได้จัดทำขึ้น เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่
สำหรับพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน มีจำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 991 ราย ดังนี้ 1.ถนนข้าวสาร ตั้งแต่ถนนจักรพงษ์ถึงถนนตะนาว ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-24.00 น. ผู้ค้า 197 ราย 2.ถนนไกรสีห์ (เช้า) ตั้งแต่ถนนไกรสีห์ถึงถนนสิบสามห้าง ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. ผู้ค้า 53 ราย ถนนไกรสีห์ (กลางวัน) ตั้งแต่ถนนไกรสีห์ถึงถนนสิบสามห้าง ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-18.00 น. ผู้ค้า 171 ราย 3.ถนนตานี ตั้งแต่ถนนตานีตัดถนนจักรพงษ์ถึงถนนสิบสามห้าง ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-18.00 น. ผู้ค้า 228 ราย 4.ถนนพาหุรัด ฝั่งห้างไชน่าเวิลด์ ตั้งแต่ถนนพาหุรัดถึงถนนบูรพาภิรมย์ ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-18.00 น. ผู้ค้า 48 ราย 5.ถนนจักรเพชร-พาหุรัด-ตรีเพชร ตั้งแต่ถนนตรีเพชรถึงถนนจักรเพชร ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-18.00 น. ผู้ค้า 222 ราย 6.ถนนแพร่งนรา ตั้งแต่ถนนอัษฎางค์ถึงถนนตะนาว ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-16.00 น. ผู้ค้า 17 ราย 7.ถนนอัษฎางค์ ตั้งแต่ถนนพระพิทักษ์ถึงถนนเจริญกรุง ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-16.00 น. ผู้ค้า 43 ราย และ 8.ถนนสามเสน ตั้งแต่แยกเทเวศร์ถึงถนนสามเสน ซอย 2 ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-24.00 น. ผู้ค้า 13 ราย
ติดตามการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตพระนคร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิว ยื่นคำร้อง ถ่ายรูป รับบัตร เสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด ควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่รวมเวลารอคอย โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน หากชำรุดเสียหายให้จัดหาเครื่องใหม่มาทดแทน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญประชาชนได้รับการบริการด้วยความสะดวกและรวดเร็ว
จากนั้นได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเข้าใช้งานในระบบ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอายุในการใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) พร้อมทั้งสอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรงตามกรอบเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 9,888 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 17,740 แห่ง ห้องชุด 1,318 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 28,946 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะภายในสำนักงานเขตพระนคร มีข้าราชการและบุคลากร 1,073 คน วิธีการคัดแยกขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ในแต่ละหน่วยงานจะมีการคัดแยกขยะ 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งถังขนาดเล็กพร้อมฝาปิด เพื่อคัดแยกเศษอาหาร แม่บ้านแต่ละชั้นจะรวบรวมนำไปเทที่จุดพักขยะด้านล่างอาคาร 3.ขยะอันตราย ตั้งถังรองรับขยะอันตรายด้านล่างอาคาร เจ้าหน้าที่จัดเก็บและรวบรวมที่จุดจัดเก็บสวนพระปกเกล้า เพื่อนำส่งไปทำลายอย่างถูกวิธี 4.ขยะทั่วไป แม่บ้านแต่ละชั้นจัดเก็บและรวบรวมไว้ด้านล่างในถังรองรับที่ได้ตั้งไว้ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บเป็นประจำทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0.3 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0.1 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาเปลี่ยนเส้นทางเดินรถเก็บขนมูลฝอย ซึ่งในปัจจุบันบางพื้นที่มีปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น บางพื้นที่มีปริมาณขยะลดลง รวมถึงปรับขนาดรถเก็บขนมูลฝอยให้เหมาะสมกับปริมาณขยะที่จัดเก็บในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนเพิ่มจำนวนเที่ยวในการจัดเก็บขยะเป็น 2 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขยะตกค้างในพื้นที่
ในการนี้มี นางสาวศศิธร ประสิทธิ์พรอุดม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพระนคร นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพระนคร สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล