In Bangkok

เขตราษฎร์บูรณะจัดระเบียบผู้ค้าหน้ารพ. ปั้นสวน15นาทีไหล่ทางซ.สุขสวัสดิ์30



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯกทม.สั่งเขตราษฎร์บูรณะจัดระเบียบผู้ค้าหน้าโรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ ปั้นสวน 15 นาทีริมไหล่ทางซอยสุขสวัสดิ์ 30 ส่องสวนหน้าหมู่บ้านโกลเด้นทาวน์ ชูต้นแบบแม็คโคร ฟูดเซอร์วิส สุขสวัสดิ์ คัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด 

(21 พ.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ 

ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณหน้าโรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 1 จุด คือหน้าโรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ ผู้ค้า 9 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-19.00 น. ซึ่งในปี 67 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด บริเวณซอยราษฎร์บูรณะ 16 ผู้ค้า 4 ราย ยกเลิกวันที่ 30 เม.ย.67 ในปี 68 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด บริเวณซอยสุขสวัสดิ์ 26 ผู้ค้า 22 ราย ยกเลิกวันที่ 31 ธ.ค.67 นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker center จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1.บริเวณซอยราษฎร์บูรณะ 22 พื้นที่ 30 ตารางวา สามารถรองรับผู้ค้าได้ 60 ราย ช่วงเวลาทำการค้า รอบเช้า 06.00-14.00 น. รอบบ่าย 15.00-21.00 น. มีผู้ค้าเข้าไปทำการค้า 24 ราย 2.บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 วัดแจงร้อน รองรับผู้ค้าได้ 4 ราย มีผู้ค้าเข้าไปทำการค้า 4 ราย 3.บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 สุขสวัสดิ์ 26 รองรับผู้ค้าได้ 9 ราย มีผู้ค้าเข้าไปทำการค้า 4 ราย 4.บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 ซอยราษฎร์บูรณะ 23 รองรับผู้ค้าได้ 8 ราย มีผู้ค้าเข้าไปทำการค้า 5 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่เจ้าของพื้นที่กำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบในพื้นที่ 

ติดตามการจัดทำสวน 15 นาที สวนซอยสุขสวัสดิ์ 30 บริเวณซอยสุขสวัสดิ์ 30 แยก 8 ซึ่งเขตฯ ปรับปรุงพื้นที่ว่างริมไหล่ทาง ปูแผ่นอิฐโรยกรวดทางเดิน ตั้งวางม้านั่ง ปูหญ้าสนาม ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม และติดตามการจัดทำสวน 15 นาที บริเวณหน้าหมู่บ้านโกลเด้นทาวน์ ซอยสุขสวัสดิ์ 30 ซึ่งเขตฯ พัฒนาพื้นที่ว่างริมไหล่ทาง จัดทำทางเดิน จัดทำม้านั่ง ปลูกไม้พุ่มขนาดเล็ก รวมถึงอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสุขเวชชวนารมย์ ซอยสุขสวัสดิ์ 26 แยก 2 พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา 2.สวนวัดแจงร้อน ซอยราษฎร์บูรณะ 37 พื้นที่ 1 ไร่ 3.สวนซอยราษฎร์บูรณะ 1 พื้นที่ 1 ไร่ 1งาน 82 ตารางวา 4.สวนหน้าคอนโดแชปเตอร์วัน ซอยราษฎร์บูรณะ 33 พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 34.20 ตารางวา 5.สวนซอยสุขสวัสดิ์ 26 แยก 9 พื้นที่ 2 งาน 61 ตารางวา แล้วเสร็จ 90% 6.สวนซอยสุขสวัสดิ์ 30 แยก 8 พื้นที่ 3 งาน แล้วเสร็จ 90% 7.สวน 15 นาที หน้าหมู่บ้านโกลเด้นทาวน์ พื้นที่ 1 งาน 77 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 8.สวนโรงเรียนวัดบางปะกอก พื้นที่ 2 งาน 47 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 9.สวนวัดสารอด ซอยสุขสวัสดิ์ 44 พื้นที่ 50 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสมเพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการเข้ามาใช้บริการอย่างแท้จริง 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ แม็คโคร ฟูดเซอร์วิส สาขาสุขสวัสดิ์ ถนนสุขสวัสดิ์ พื้นที่ 7,200 ตารางวา มีบุคลากร 100 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 65 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ เบเกอร์รี่ โดยติดต่อเกษตรกรมารับเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกรีไซเคิล เพื่อนำไปจำหน่าย 3.ขยะทั่วไป ขยะที่เหลือจากการคัดแยกแล้ว มีห้องพักสำหรับพักขยะ เขตฯ จัดเก็บขยะทุกวัน เวลา 19.00 น. 4.ขยะอันตราย มีถังแยกประเภทสำหรับทิ้งขยะอันตราย นัดหมายเขตฯ จัดเก็บเป็นประจำทุกเดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 5 ตัน/เดือน หลังคัดแยก 2 ตัน/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 1 ตัน/เดือน หลังคัดแยก 1.5 ตัน/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 3.5 ตัน/เดือน หลังคัดแยก 6 ตัน/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0.2 ตัน/เดือน หลังคัดแยก 0.5 ตัน/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่ 

ในการนี้ นายดลจิตร์ เสรีรักษ์ ผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตราษฎร์บูรณะ สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล