In Bangkok

กทม.จัดพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ประจำปี2566 ระลึกและบูชาพระคุณของครูนาฏศิลป์ 



กรุงเทพฯ-(27 ก.ค.66) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ ประจำปี 2566 โดยมี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว คณะครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง 

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กำหนดจัดพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ ประจำปี 2566 เพื่อเป็นการระลึกและบูชาพระคุณของครูนาฏศิลป์ ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้เข้าร่วมพิธี กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย เวลา 07.00 น. พิธีสงฆ์ โดยมีพระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเช้า จากนั้นเวลา 09.00 น. ประธานในพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ประธานผู้ประกอบพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ โดยว่าที่ร้อยเอกอรรถพล ฉิมพลูสุข รำเพลงหน้าพาทย์ พราหมณ์เข้า ประธานในพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ จุดเทียนชัย (เทียนเงิน เทียนทอง) ประธานผู้ประกอบพิธีฯ อ่านโองการอัญเชิญเทวดาถวายเครื่องสังเวย ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ และสมาชิกศูนย์เยาวชน เข้าพิธีครอบครู รำถวายมือ เพลงช้า เพลงเร็ว ระบำ รำเพลงหน้าพาทย์ ตระนิมิต บาทสกุณณี จากผู้นำกิจกรรมนาฏศิลป์ของศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ในช่วงบ่ายเวลา 13.00 น. พิธีครอบครูต่อ เวลา 15.00 น. ผู้เข้าร่วมพิธีฯ รำส่งครู 

สำหรับความสำคัญของการไหว้ครูในพิธีไหว้ครู ประเทศไทยเรามีประเพณีการไหว้ครูมาแต่โบราณ เราไหว้ครูเพราะเราเคารพในความเป็นผู้รู้ และความเป็นผู้มีคุณธรรมของท่าน คุณสมบัติทั้ง 6 ประการของครู ต้องสอดคล้องสัมพันธ์กับคุณธรรมของศิษย์ การเรียนการสอน จึงจะดำเนินไปได้ด้วยดี ถ้าจะเปรียบการเรียนการสอนเป็นต้นไม้ คุณธรรมของครูนับตั้งแต่ปัญญา ความเมตตา ความกรุณา และความบริสุทธิ์ใจ ก็เปรียบได้กับพื้นดิน ซึ่งเป็นฐานรองรับให้ต้นไม้คงอยู่ได้ ในขณะเดียวกันคุณธรรมของศิษย์ไม่ว่าจะเป็นความเคารพ ความอดทน หรือความมีระเบียบวินัย ก็เปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้ต้นไม้เจริญเติบโตออกดอกออกผลอย่างงดงาม 

ในความสำคัญของการไหว้ครู มีผู้กล่าวไว้ดังนี้ “การไหว้ครูเป็นพิธีสำคัญของไทย ตั้งแต่เด็กนักเรียนขึ้นไปจนถึงชั้นนิสิตและผู้เรียนที่ได้เล่าเรียนวิชาชีพอิสระประเภทต่างๆ จะต้องประกอบพิธีไหว้ครูประจำปีทั้งนั้น แม้แต่แพทย์แผนโบราณก็ยังต้องมีพิธีไหว้ครู”

“การไหว้ครูบาอาจารย์เป็นของดี ก็ไม่น่าจะติเตียนว่างมงายอย่างไร ถ้าใครยังไม่เคยเห็นการไหว้ครู น่าจะหาโอกาสดู แล้วท่านจะได้รับความรู้ในทางวัฒนธรรมของเราได้ส่วนหนึ่งว่าครูนั้นเรานับถือกันมารองมาจากพ่อแม่” 

“พิธีไหว้ครู นอกจากเป็นการมอบตนเองเข้าเป็นศิษย์แล้วยังเป็นการแสดงตน ว่าเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีอันเป็นเครื่องหมายของคนดี” 

“คนไทยยอมรับและยกย่องบุคคลผู้มีความกตัญญูกตเวทีเท่านั้น ดังนั้นนักเรียนนักศึกษาผู้บูชาครูด้วยความเคารพจริงใจย่อมจะเกิดมงคลแก่ตนได้รับเมตตาจากบุคคลทั้งหลาย อันจะมีผลให้การศึกษาเล่าเรียนสำเร็จสมประสงค์ทุกประการ” 

“ประเพณีการไหว้ครูมีมาแต่โบราณ คนไทยเป็นคนที่มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ การที่จะกระทำกิจการใดๆ ก็ต้องได้รับคำแนะนำจากครู แม้แต่การเลียนแบบหรือลักจำเขามา ก็ต้องเคารพผู้ให้กำเนิด หรือประดิษฐ์สิ่งนั้น ในการศึกษาศิลปะวิทยาการต่างๆ ต้องมีการไหว้ครูก่อนทั้งนั้น การไหว้ครูถือว่ามีความสำคัญมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนศิลปะการดนตรีและนาฏศิลป์เป็นพิธีการที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่ และมีพิธีรีตองมากกว่าการไหว้ครูทางหนังสือ” 

“โขนและละครรำเป็นศิลปะที่ถือเอากระบวนการเต้นกระบวนการร่ายรำเป็นสำคัญ เพราะการเล่นโขนเล่นละครเป็นศิลปะที่ประณีตมาก จะต้องฝึกหัดกันนาน จึงจะเล่นเป็นตัวดีได้ บรรดาศิษย์ที่เข้ารับฝึกได้จึงหัดกันมาแต่เด็กๆ เมื่อหัดรำเพลงช้าและเพลงเร็วได้แล้วก็นับว่ารำเป็นพอจะออกเล่นออกแสดงเป็นเสนาหรือนางกำนัลได้ จึงกำหนดให้ทำพิธีไหว้ครู ถ้าหัดปีพาทย์เมื่อบรรเลงเพลงโหมโรงได้จบก็นับว่าตีเป็นพอที่จะออกงาน เช่น สวดมนต์เย็น ฉันเข้าได้ก็ให้ไหว้ครูเช่นกัน และเมื่อครูอาจารย์เห็นว่าศิษย์เหล่านั้นเต้นรำทำเพลงได้ดีแล้ว ครูจึง "ครอบ" ให้เท่ากับอนุญาตให้เป็นโขนละครได้ นับแต่นั้นมาก็เป็นเสมือนว่าศิษย์นั้นๆ ได้ประกาศนียบัตรประกาศความเป็นโขนละครแล้ว นี้เป็นแบบแผนมีมาแต่โบราณ” 

“พิธีไหว้ครูที่ปฏิบัติกันเคร่งครัด ได้แก่ พิธีไหว้ครูอาจารย์ทางดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์ถือกันว่าเพลงหน้าพาทย์ คนตรีบางเพลงและท่ารำบางท่า เป็นเพลงและท่ารำที่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้ายังไม่ได้ทำพิธีไหว้ครูและพิธีครอบเสียก่อนแล้ว บรรดาครูอาจารย์ทั้งหลายก็ไม่กล้าสอนกล้าหัดให้ศิษย์ด้วย เชื่อกันว่าจะเกิดผลร้ายแก่ครูผู้สอนและแก่ศิษย์เองด้วย ถ้าเกิดอุบัติเหตุใดๆ ขึ้นก็จะกล่าวกันว่าครูแรง” 

สำหรับการตั้งเครื่องบูชาและเครื่องสังเวย ประกอบด้วย ที่สำหรับครูปัธยาย จัดเครื่องสังเวยของสุกและเป็นเครื่องคู่ ที่สำหรับครูดนตรีอยู่ทางขวามือ จัดเครื่องสังเวยของสุกเครื่องคู่ ที่องค์พระพิราพด้านซ้ายมือ จัดเครื่องสังเวยของดิบเครื่องคู่ ที่พระภูมิจัดเครื่องสังเวยของสุกเครื่องเดี่ยว ที่ตรงหน้าเครื่องปี่พาทย์วงที่ใช้บรรเลงในพิธี จัดเครื่องสังเวยของสุกเครื่องเดี่ยว 

ส่วนรายละเอียดเครื่องสังเวย มีดังนี้ บายศรีปากชาม 4 คู่ มะพร้าวอ่อน 4 คู่ กล้วยน้ำว้า 4 คู่ ผลไม้ 7 อย่าง 4 คู่ อ้อยทั้งเปลือก 4 คู่ เผือก มัน ถั่ว งา นม เนย 4 คู่ เหล้า 4 คู่ เครื่องกระยาบวช 4 คู่ ขนมต้มแดง ขาว 4 คู่ เครื่องจิ้ม 4 คู่ หมาก พลู บุหรี่ ไม้ขีดไฟ 4 คู่ บุหรี่ กับ ชา 4 คู่ หัวหมูสุก 3 คู่ ดิบ 1 คู่ เป็ดหมูสุก 3 คู่ ดิบ 1 คู่ ไก่สุก 3 คู่ ดิบ 1 คู่ กุ้งสุก 3 คู่ ดิบ 1 คู่ ปลาสุก 3 คู่ ดิบ 1 คู่ ปูสุก 3 คู่ ดิบ 1 คู่ หัวใจ ตับ หมูดิบ 1 คู่ ไข่ไก่ดิบ 1 คู่ หมูหนาม 4 คู่ ข้าวเหนียวหน้าเนื้อ หรือมะตะบะ 1 คู่ น้ำเย็น 1 คู่ โดยจัดสิ่งของเหล่านี้ให้ครบไม่ขาดไม่เกิน นอกจากเครื่องบูชาและเครื่องสังเวยแล้ว ยังมีเครื่องกำนัล ประกอบด้วย ขัน 1 ใบ เงิน 6 บาท ผ้าห่มหรือผ้าเช็ดหน้า 1 ผืน เทียนขี้ผึ้งขาว 3 เล่ม ดอกไม้ ธูป บุหรี่ ไม้ขีดไฟและหมากพลู 3 คำ ให้ทั้งประธานในพิธีและผู้เข้าครอบ