In Bangkok
จัดถกมุ่งแก้ปัญหาคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ คืนสิทธิให้งานยกระดับคุณภาพชีวิต
กรุงเทพฯ-(27 ก.ค. 66) เวลา 09.00 น. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านคนไร้บ้านของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า เป้าหมายของการดำเนินการด้านคนไร้บ้านคือการคืนสิทธิ การให้งาน หรือการทำให้คนไร้บ้านมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างครบวงจร ซึ่งในปีแรกเรามีการทำจุด Drop in เพื่อจัดระเบียบคนไร้บ้าน แต่จริง ๆ แล้วยังมีมิติอื่น เช่น มิติเรื่องการอยู่อาศัย มิติเรื่องสุขภาพที่อาจจะยังทำได้ไม่สมบูรณ์นัก สำหรับที่ผ่านมา เราได้มีการช่วยเหลือคนไร้บ้านหัวลำโพง โดยร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย นำโมเดลโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่งมาใช้ ซึ่งเป็นการจัดการที่อยู่อาศัยผ่านการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้านในรูปแบบ “แชร์” ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ให้คนไร้บ้านสมทบค่าเช่าร่วมกับโครงการฯ ในสัดส่วนประมาณ 60:60 ของค่าเช่าห้อง โดยทางโครงการจะแบ่งส่วนที่เพิ่มร้อยละ 20 ไปไว้ในกองทุนช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มคนไร้บ้านในด้านอื่น ๆ หรือรายอื่น ๆ ต่อไป ระยะสัญญาอยู่ที่ประมาณ 6 - 7 เดือน สามารถต่อสัญญาได้
ปัจจุบันนี้ได้มีหน่วยงาน มูลนิธิ หรือองค์กรต่าง ๆ มาร่วมกันเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านดีขึ้น ตั้งแต่การได้สิทธิ ได้รับอาหาร ได้งาน ได้รับการดูแลสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานคร งบประมาณปี 2567 จะนำบ้านอิ่มใจในรูปแบบ Emergency Shelters กลับมาใหม่ โดยใช้พื้นที่ของอาคารที่ทำการฝ่ายบริหารเอกสารกองกลาง สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร บริเวณสะพานเฉลิมวันชาติ ฉะนั้น หากบ้านอิ่มใจแล้วเสร็จ การอยู่ชั่วคราวเพื่อจะคืนสภาพให้คนไร้บ้านได้มีงานและสวัสดิการต่าง ๆ ก็กำลังจะครบวงจรมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้การเดินต่อของคนที่ขาดสิทธิสามารถไปต่อได้ ทั้งนี้ อนาคตอาจต่อยอดไปถึงบ้านของคนรายได้น้อยด้วย
อีกส่วนหนึ่งที่ยังพูดถึงกันน้อยคือเรื่องของจิตเวช ซึ่งกรุงเทพมหานครอาจจะต้องบูรณาการร่วมกับทาง พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ที่มีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานครหรือบ้านมิตรไมตรี 5 แห่ง แต่ไม่มีกำลังเรื่องการแพทย์ โดยกรุงเทพมหานครอาจเข้าไปสนับสนุนเรื่องการแพทย์ เพื่อทำให้เป็นศูนย์ที่ดูแลทางด้านจิตเวชได้ด้วย ซึ่งจะเป็นการบำบัดดูแลคนไร้บ้านที่มีอาการทางจิตเวชให้สามารถกลับสู่สังคมได้อย่างปลอดภัย โดยเรื่องนี้ก็คงเป็นสเต็ปที่ต้องดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยของโรงเรียนในพื้นที่ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานครมีการจัดเทศกิจดูแลพื้นที่เข้มงวด โดยดูแลนักเรียนข้ามถนนในช่วงเช้าและเย็น รวมถึงมีการให้สำนักการจราจรและขนส่งมาติดตั้งไฟสัญญาณเพิ่มเพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ การดูแลพื้นที่ถนนราชดำเนินเป็นการดูแลคู่ขนานทั้งในเรื่องของการคืนคุณภาพชีวิตและเรื่องของความปลอดภัย เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจไปพร้อม ๆ กัน
สำหรับวันนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักพัฒนาสังคม สำนักเทศกิจ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานปกครองและทะเบียน สำนักงานเขตพระนคร และภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมการจัดหางาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ทีมสุขภาวะข้างถนน เครือข่ายคนไร้บ้านหัวลำโพง ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการปัญหาคนไร้บ้าน
โดยที่ประชุมได้มีการรายงานเพื่อทราบในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ รายงานผลการแจงนับคนไร้บ้านตามโครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) รายงานผลการดำเนินการให้บริการคนไร้บ้าน ณ จุดบริการสวัสดิการสังคม (Drop in) การจ้างงานคนไร้บ้านทำงานบริการสาธารณะในพื้นที่เขตพระนคร โครงการสดชื่นสถาน และการบริหารจัดการห้องสุขา ห้องอาบน้ำ บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า การจัดตั้งบ้านอิ่มใจ (Homeless Shelters) ทะเบียนบ้านสำหรับคนไร้ที่พึ่งในกรุงเทพมหานคร ข้อมูลบ้านมิตรไมตรี 5 แห่ง (Homeless Shelters) ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร การให้บริการคนไร้บ้านที่เจ็บป่วยตามโครงการสุขภาวะข้างถนน
สำหรับผลการแจงนับคนไร้บ้าน ประจำเดือนพ.ค. 66 พบว่า มีจำนวน 2,499 ราย ใน 75 จังหวัด เป็นคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 1,271 ราย คิดเป็น 50.86% รองลงมาคือ จ.ชลบุรี 126 คน และ จ.เชียงใหม่ 118 คน หากแบ่งตามเพศพบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 82.5% หญิง 16.2% ที่เหลือไม่ต้องการระบุเพศ อายุของคนไร้บ้านส่วนใหญ่คือ 40 - 59 ปี 56.8% รองลงมาคือ 60 ปีขึ้นไป 22.1% และ 19 - 39 ปี 20%
ในส่วนของสถิติการให้บริการบริเวณจุด Drop in ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และตรอกสาเก ตั้งแต่ 23 ส.ค. 65 - 30 มิ.ย. 66 มีดังนี้
• ให้คำปรึกษาแนะนำสิทธิสวัสดิการ (ทุกวัน) 1,249 ราย (ใต้สะพานปิ่นเกล้า 1,175 ราย ตรอกสาเก โดยมูลนิธิอิสรชน [เฉพาะวันอังคาร] 61 ราย ตรอกสาเก โดยเขตพระนคร 13 ราย)
• แจกอาหาร (ทุกวัน) 115,430 ชุด (ใต้สะพานปิ่นเกล้า 78,550 ชุด ตรอกสาเก โดยมูลนิธิอิสรชน [เฉพาะวันอังคาร] 19,800 ชุด ตรอกสาเก โดยเขตพระนคร 17,080 ชุด)
• ให้บริการด้านสุขภาพ (ทุกวันศุกร์) ใต้สะพานปิ่นเกล้า 1,131 ราย
• จ้างงาน (ดำเนินการโดยศูนย์คุ้มครองฯ และมูลนิธิกระจกเงา) ใต้สะพานปิ่นเกล้า 169 ราย
• ทำบัตรประชาชน (ทุกวันศุกร์สิ้นเดือน) ใต้สะพานปิ่นเกล้า 80 ราย
• ย้ายสิทธิการรักษาพยาบาล (ทุกวันศุกร์สิ้นเดือน) ใต้สะพานปิ่นเกล้า 257 ราย
• ซัก อบ อาบ (ทุกวันอังคารและวันศุกร์) ใต้สะพานปิ่นเกล้า 960 ราย
• ตัดผม (ทุกวันศุกร์สิ้นเดือน) ใต้สะพานปิ่นเกล้า 438 ราย
• ส่งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง (ทุกวัน) ใต้สะพานปิ่นเกล้า 5 ราย
• ส่งกลับภูมิลำเนา (ทุกวัน) ใต้สะพานปิ่นเกล้า 10 ราย
ภายหลังการประชุม รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า วันนี้มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง อาทิ เรื่องบ้านอิ่มใจ Respite care (บ้านพักชั่วคราว) การบริการสุขภาพที่ทางสำนักการแพทย์และสำนักอนามัยยังเข้าไม่ถึง การดูแลด้านจิตเวช โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะในเรื่องต่าง ๆ อาทิ ควรมีการเก็บข้อมูลเป็นรายบุคคลให้มากขึ้น ควรมีแนวทางการทำงานต่อในเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจจะต้องหารือกับสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย ในเรื่องของห้องพักราคาถูก หรือห้องพักสำหรับ First Jobber การทำงานด้านคนไร้บ้านต้องมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักที่ชัดเจน โดยหน่วยงานสนับสนุนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องรู้ภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องออกแบบระบบการทำงานร่วมกัน และวางแผนโดยมองภาพรวมและกำหนดทิศทางให้ชัดเจน เป็นต้น ทั้งนี้ การประชุมครั้งหน้าอาจจะต้องนำภาพใหญ่มาให้เห็นการกระจายทรัพยากรและการระดมความช่วยเหลือจากเอกชน ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาครบวงจรมากขึ้น กุญแจหลักในการแก้ปัญหาคนไร้บ้านคือเรื่องสิทธิ บริการทางสุขภาพ และการจ้างงาน โดยในการจ้างงาน เขตพระนครจะกำหนดจุดพื้นที่ ค่าจ้างจากทางมูลนิธิกระจกเงาส่วนหนึ่งและกรุงเทพมหานครจะมีการอิงตามระเบียบของกรุงเทพมหานครเพิ่มเติมให้ด้วย
ด้าน นายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการ “จ้างวานข้า” มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า สิ่งที่ได้มีการหารือกันวันนี้เป็นเรื่องของการสนับสนุนพื้นที่การทำงานที่เป็นพื้นที่สาธารณะในพื้นที่เขตพระนครให้แก่คนไร้บ้านที่เข้าโครงการจ้างวานข้า วันละประมาณ 50 - 100 ราย/วัน เพื่อให้คนไร้บ้านหรือคนจนเมืองเข้าถึงสิทธิปกติที่คนทั่วไปพึงมี เช่น การได้ซักเสื้อผ้า อาบน้ำ มีอาหารการกิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เปลี่ยนผ่านจาก “คนไร้บ้าน” สู่การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ปัจจุบัน (ก่อนมีความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร) มีกลุ่มคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบงานกับทางมูลนิธิกระจกเงาประมาณ 60 ราย ในจำนวนนี้มีการเปลี่ยนผ่านไปมีที่อยู่อาศัยมั่นคงประมาณ 30 ราย คาดว่าหากได้ร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานครซึ่งจะให้การสนับสนุนด้านพื้นที่เพื่อให้เราสามารถออกแบบการทำงานได้ จะสามารถขยายผลนำคนเข้าสู่ระบบงานได้ถึงประมาณ 100 ราย ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านได้จำนวนมากขึ้น ในส่วนของอุปสรรคการทำงานด้านคนไร้บ้านคือยังขาดการร้อยเรียงงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าด้วยกัน ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านคนไร้บ้านของกรุงเทพมหานครนี้จะทำให้เราได้ทราบว่ากลุ่มทำงานในหลาย ๆ ส่วนดูแลในด้านใด อย่างไร รวมถึงเห็นภาพการพยายามเชื่อมโยงบูรณาการการทำงานร่วมกัน และเห็นภาพรวมทั้งหมดมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด