In Bangkok

ปลุกความภาคภูมิใจความมั่นใจในตนเอง ของนักเรียนในโรงเรียนเรียนร่วมกทม.



กรุงเทพฯ-(27 ก.ค. 66) พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาพิเศษเพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียน ในกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษโรงเรียนเรียนร่วมสังกัดกรุงเทพมหานคร กิจกรรมที่ 2.2 จัดนิทรรศการ และจัดพิธีมอบรางวัลผลงานนักเรีย นที่มีความต้องการพิเศษ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน โดยมี ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ข้าราชการครู ข้าราชการครูการศึกษาพิเศษ ผู้ปกครองและนักเรียนในกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษในโรงเรียนเรียนร่วมสังกัดกรุงเทพมหานคร ร่วมงาน

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 มาตรา 10 ระบุว่า การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษา สำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารหรือมีร่างกายพิการหรือทุพพลภาพหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2560 ซึ่งได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาไว้ในมาตรา 54 ว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ดังนั้น การจัดการศึกษาจึงจำเป็นต่อเด็กนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อให้ได้รับการพัฒนาตนเองและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ในการนี้ กรุงเทพมหานคร จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียน โดยการประกวดแข่งขันนักเรียนกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ ระหว่างวันที่ 11 - 13 กรกฎาคม 2566 ณ โรงเรียนวัดดอกไม้ สำนักงานเขตยานนาวา โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 1,500 คน จากนั้นได้นำผลงานของนักเรียนที่ชนะการประกวดวาดภาพระบายสี การปั้นดินญี่ปุ่น และการประกวดจินตลีลาประกอบเพลง มาจัดแสดงผลงาน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจในตนเองและสร้างความมั่นใจให้นักเรียนในการพัฒนาตนเองต่อไป

สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นไปตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ฉบับปรับปรุง ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาเมืองที่มีรูปแบบอารยะ ลดความเหลื่อมล้ำ สำหรับทุกคน ยุทธศาสตร์ย่อยที่ 3.3 การศึกษาสำหรับทุกคน เป้าประสงค์ที่ 3.3.2 โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครสามารถให้บริการการศึกษาสำหรับผู้เรียนในกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ โดยเห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาพิเศษตามแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 ที่เน้นนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษควรได้รับการพัฒนาตนเองอย่างเหมาะสมและเต็มศักยภาพ