In Bangkok
'ผู้ว่าฯชัชชาติ'ลงพื้นที่ตรวจคลองผดุงฯ ชี้แจงสาเหตุน้ำในคลองส่งกลิ่นเหม็น
กรุงเทพฯ-(2 ส.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่คลองผดุงกรุงเกษมเพื่อตรวจสอบและชี้แจงกรณีประชาชนร้องเรียนเหตุน้ำในคลองส่งกลิ่นเหม็น
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เปิดเผยในการลงพื้นที่ว่า ในช่วงฤดูฝนเราจำเป็นต้องพร่องน้ำในคลอง ทั้งคลองผดุงกรุงเกษมหรือคลองสายอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับน้ำฝนที่ตกลงมาเพื่อป้องกันน้ำท่วม เมื่อพร่องน้ำในคลองลงไปเยอะทำให้ตะกอนเลนที่อยู่ใต้คลองซึ่งมีกลิ่นเหม็นเพราะมีองค์ประกอบของสารซัลเฟอร์หรือก๊าซไข่เน่าส่งกลิ่นเหม็นขึ้นมา ยิ่งเมื่อเราเดินเรือก็เป็นการคุ้ยตะกอนเลนใต้คลองให้ขึ้นมาด้วย แต่การพร่องน้ำเป็นระบบที่เราต้องใช้เพื่อป้องกันน้ำท่วม เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าในช่วงฤดูฝนเราพร่องน้ำเยอะก็อาจทำให้คลองมีกลิ่นบ้าง สำหรับคุณภาพน้ำในคลอง กทม.ดูแลตรวจเช็คตลอด ค่า BOD (Biological Oxygen Demand ) หรือค่าบอกถึงลักษณะของน้ำเสียได้ว่ามีความสกปรกมากหรือน้อยแค่ไหน คลองผดุงกรุงเกษมตอนนี้วัดได้อยู่ในระดับ 9 ซึ่งค่ามาตรฐานต้องน้อยกว่า 20 แต่เมื่อมีการพร่องน้ำมากค่าก็อาจเพิ่มขึ้นเพราะตะกอนใต้คลองได้เช่นกัน
ด้านนายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครยังมีการดำเนินการหมุนเวียนถ่ายเทน้ำในคลอง (Flushing) เพื่อปรับปรุงแก้ไขคุณภาพน้ำในคลองผดุงกรุงเกษมและคลองอื่น ๆ ให้มีคุณภาพดีอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในสู่ช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะตั้งแต่จากนี้เป็นต้นไปจนถึงเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกและฝนตกหนักเนื่องจากร่องมรสุมจะพาดผ่านบริเวณภาคกลางประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงเป็นช่วง ๆ และอาจจะมีพายุเข้ามาสู่ประเทศไทยในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝนในช่วงเวลาดังกล่าว โดยทำการลดน้ำในคลองให้อยู่ในระดับต่ำไว้อย่างต่อเนื่องตามแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจทำให้น้ำในคลองมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร แต่เมื่อสถานการณ์การเข้าสู่ฤดูฝนผ่านพ้นไปแล้วกรุงเทพมหานครก็จะดำเนินการเข้าสู่โหมดของแผนการถ่ายเทไหลเวียนน้ำ ซึ่งดำเนินการเป็นประจำทุกปีเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะคลองที่อยู่ในพื้นที่ชั้นในเมือง
สำหรับความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของกรุงเทพมหานครได้มีการผลักดันแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียเชิงบูรณาการภายในคลองผดุงกรุงเกษมและคลองสาขาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดกิจกรรมพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพน้ำและภูมิทัศน์ริมฝั่งคลองผดุงกรุงเกษม การให้ความรู้และแนะนำการติดตั้งถังดักไขมันแก่ร้านอาหารและตลาดที่ตั้งริมคลอง การรณรงค์ไม่ปล่อยทิ้งน้ำเสียลงสู่คูคลองโดยไม่ผ่านการบำบัด มีการขยายโครงข่ายท่อรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติม มีการนำเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียภายในคลองที่มีการศึกษาและพัฒนาโดยหน่วยงานที่น่าเชื่อถือมาทดลองบำบัดน้ำเสียภายในคลอง รวมถึงมีการจัดให้มีการไหลเวียนน้ำเพื่อปรับสภาพน้ำโดยใช้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาสู่คูคลอง ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากพบว่ามีสถานประกอบการใดมีน้ำทิ้งไม่ผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐานการระบายน้ำทิ้งตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครกำหนดแนวทางการบำบัดน้ำเสียและปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองผดุงกรุงเกษม โดยมุ่งเน้นการให้บริการบำบัดน้ำเสียโดยโรงควบคุมคุณภาพน้ำ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยาและโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง ทำหน้าที่รวบรวมน้ำเสียจากชุมชนและสถานประกอบการต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เพื่อนำน้ำเข้ามาทำการบำบัดให้มาตรฐานน้ำทิ้งก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ร่วมกับการจัดให้มีการไหลเวียนน้ำเพื่อปรับสภาพน้ำ ขณะเดียวกันมีแผนสำรวจจุดที่มีน้ำเสียที่ยังไม่เข้าระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย เพื่อวางแผนการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมเข้าโรงควบคุมคุณภาพน้ำสี่พระยาและดินแดงต่อไป เนื่องจากบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีการก่อสร้าง ปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างนอกแนวพื้นที่บริการเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้มีจุดปล่อยน้ำเสียที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบท่อรวบรวมน้ำเสียและปล่อยลงสู่คลองโดยตรง
“ต้องขอบคุณประชาชนที่ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น กรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมรับเรื่องไปปรับปรุงแก้ไข บางครั้งอาจเป็นเพราะการพร่องน้ำมากเกินไป เพราะเรื่องน้ำท่วมก็เป็นสิ่งที่เรากังวลเช่นกัน ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำในคลองมีกลิ่นเหม็น แต่ไม่ใช่จากของคุณภาพน้ำเพราะคุณภาพน้ำกทม.ตรวจเช็คและดูแลอยู่ตลอด” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย