Health & Beauty
รู้ก่อนบรรเทาได้!เจาะ5โรคในผู้สูงอายุ ที่ต้องเฝ้าระวังพร้อมแนะวิธีรับมือ
‘อายุเป็นเพียงตัวเลข’ วลียอดฮิตที่แทรกอยู่ในบริบทต่างๆของวัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุที่แสดงถึงความไม่ยอมแพ้ต่อความร่วงโรยที่ล่วงเลยไปตามกาลเวลา ทำอย่างไรจึงจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไร้อุปสรรคโรคภัยไม่ถามหา โดยหนึ่งในวิธีป้องกันความเสื่อมถอยของร่างกาย คือการหมั่นตรวจเช็ค คัดกรองเพื่อป้องกันและบรรเทาโรคทางกาย ไปจนถึงการดูแลประคับประครองทางด้านอารมณ์และจิตใจหลีกเลี่ยงการเผชิญกับภาวะที่มีความเครียด และการอยู่ในสังคมสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการเป็นอยู่อย่างปกติสุข แต่ในความเป็นจริงเมื่อเราไม่สามารถหยุดเวลาได้ และอายุก็เพิ่มมากขึ้น โรคต่างๆที่มาตามวัยพร้อมเข้ามาทักทาย ดังนั้นโรคในผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง แต่สามารถบรรเทาได้หากได้รับการรักษาและดูแลอย่างถูกวิธี บทความนี้จะพาไปทำความรู้จัก 5 โรคในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุคนไทย พร้อมแนวทางการรับมือในการดูแลผู้สูงวัยเพื่อรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ
·โรคความดันโลหิตสูง โรคที่ฮิตที่สุดในวัยสูงอายุ
หนึ่งในลิสต์ของโรคที่พบมากที่สุดในผู้สูงอายุในไทย โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงคือ การรับประทานอาหารเค็มเป็นประจำ ไม่ค่อยขยับร่างกายหรือออกกำลังกาย และมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานตั้งแต่ช่วงวัยผู้ใหญ่ (40-60 ปี) ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดโรคนี้ แนะนำว่าเบื้องต้นควรมีการตรวจวัดความดันด้วยตนเองเป็นระยะ และพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายสม่ำเสมอ เนื่องจากโรคนี้จะไม่แสดงอาการชัดเจนในช่วงต้น ส่วนใหญ่เมื่อมีอาการ เช่น ปวดศีรษะตื้อๆ บริเวณท้ายทอยช่วงตื่นนอนตอนเช้า มักจะมีความดันโลหิตสูงค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งหากมีตรวจพบในระยะแรกยังมีโอกาสที่ความดันโลหิตจะลดลงได้ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม เช่น การรับประทานผักให้มากขึ้น ลดอาหารเค็ม อาหารรสจัด อาหารแปรรูปซึ่งมีโซเดียมสูง ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม งดบุหรี่และแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
·โรคเบาหวาน ลดน้ำตาลเพิ่มสุขภาพที่ยั่งยืน
อีกหนึ่งโรคฮิตในกลุ่มผู้สูงวัย โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคนี้คือ พฤติกรรมการใช้ชีวิต และพันธุกรรม วิธีการลดความเสี่ยงคือ ลดการบริโภคแป้งและน้ำตาล โดยเฉพาะที่ผ่านกระบวนการขัดสี เช่น น้ำตาลทรายขาว ปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่แนะนำต่อมื้ออย่างง่ายคือ รับประทาน 2 ส่วนจากอาหารทั้งหมด 4 ส่วน และลดการรับประทานจุบจิบระหว่างวัน สิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างสมดุลให้กับร่างกาย คือการหมั่นขยับร่างกายบ่อย ๆ และออกกำลังอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ และทำต่อเนื่องเป็นประจำ
·โรคข้อเสื่อม และกระดูกพรุน
ถัดมาคือโรคข้อเสื่อม และกระดูกพรุน ทั้งสองโรคนี้ความเสี่ยงมักตรงกันข้าม โรคข้อเสื่อมมักเกิดกับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก และใช้งานร่างกายหนัก ส่วนโรคกระดูกพรุนมักเกิดกับผู้ที่น้ำหนักตัวน้อย ไม่ค่อยออกกำลังกาย และอาจมีพันธุกรรมโรคกระดูกพรุน หรือโรคประจำตัวบางโรคที่ทำให้เสี่ยงมากขึ้น วิธีการป้องกันโรคข้อเสื่อมโดยเฉพาะข้อเข่าและข้อสะโพก ควรทำตั้งแต่ในวัยผู้ใหญ่ โดยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพื่อพยุงข้อต่อให้เสื่อมช้าลง และเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เพิ่มความเสื่อมให้แก่ข้อ เช่น กรณีข้อเข่า ควรเลี่ยงการนั่งยอง ๆ คุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ เป็นต้น ส่วนโรคกระดูกพรุนนั้น ป้องกันได้โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง และสามารถตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุนได้เมื่อถึงวัยที่เหมาะสม โดยผู้หญิงแนะนำตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 65 ปี เพศชายที่อายุ 70 ปี หรืออาจเร็วกว่านั้นขึ้นกับโรคประจำตัวและความเสี่ยง
·โรคสมองเสื่อม เรื่องที่คนใกล้ตัวต้องใส่ใจ
ปัจจุบันมีผู้ป่วยสูงอายุเป็นโรคสมองเสื่อมสูงขึ้นเนื่องจากมีอายุยืนยาวมากขึ้น ผู้สูงอายุ หรือผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น มีความจำระยะสั้นที่ถดถอยลง หลงทิศทาง ความสามารถในการจัดการหรือวางแผนถอยลง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป มีปัญหาด้านการใช้ภาษา นึกคำศัพท์ที่ใช้เป็นประจำไม่ออก เป็นต้น การตรวจพบโรคสมองเสื่อมแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้การรักษาได้ผลดีกว่า และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ผู้ป่วยและผู้ดูแลได้ วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคสมองเสื่อมคือการให้ผู้สูงอายุได้บริหารสมอง และทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ตนเองถนัด รวมถึงการออกกำลังกาย การผ่อนคลายจิตใจทำให้อารมณ์แจ่มใส พักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาโรคประจำตัวให้เหมาะสม
·โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล โฟกัสความสุขของคนที่เรารัก
ผู้สูงอายุมักจะมีความวิตกกังวลง่าย เนื่องจากสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม มีการเปลี่ยนทางในครอบครัวและทางสังคม การเป็นที่ยอมรับ ความกังวลเรื่องเศรษฐานะ อาจทำให้เสี่ยงต่อโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้าได้ง่าย วิธีการสังเกตว่าผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องอารมณ์หรือความวิตกกังวลหรือไม่ อาจสังเกตจากการนอนหลับ หากนอนไม่หลับ ตื่นบ่อยกลางดึก หรือนอนมากกว่าปกติ มีความหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย อารมณ์ไม่คงที่ เบื่ออาหาร หรือบางครั้งอาจมีอาการหลงลืมบ่อย แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการต่อไป เพราะสุขภาพใจที่ดี ย่อมส่งผลให้สุขภาพกายดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นกัน ความสุขง่าย ๆ ในวัยสูงอายุคือ การไม่เจ็บไม่ปวด ได้รับความรักความเข้าใจ ได้เห็นคนที่รักมีความสุขกายสบายใจ เพราะวัยสูงอายุเป็นวัยแห่งการได้ทบทวนความสุขในชีวิตที่ผ่านมาและมีความสุขกับเวลาที่เหลืออยู่
ด้าน ผศ. พญ. ฐิติมา ว่องวิริยะวงศ์. ความชำนาญพิเศษ. อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลศิริราช เปิดเผยว่า จากปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ประกอบกับประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการรักษา ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลผู้ป่วยที่สูงวัยอย่างเหมาะสมจึงเป็นเรื่องจำเป็น
“ในบางสถานการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยได้ การเรียนรู้และเข้าใจวิธีการดูแลผู้ป่วยสูงวัยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม โรงพยาบาลศิริราช ได้เล็งเห็นความสำคัญในการจัดการกับสภาวะของโรคที่มากับผู้สูงวัย และตระหนักถึงสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยในกลุ่มดังกล่าวในช่วงที่ต้องการพักฟื้นร่างกายหลังจากเข้ารับการรักษาและพ้นจากการเจ็บป่วยในระยะเฉียบพลัน จึงได้ริเริ่มแนวคิดการก่อตั้ง “ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช” เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุที่สามารถมีสถานที่ฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งยังเป็นการช่วยลดระยะเวลาที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานเกินไป โดยศูนย์ฯ ดังกล่าวจะกลายเป็นโมเดลที่จะสร้างมาตรฐานให้สังคมไทยหันมาใส่ใจในสุขภาวะของผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี และเป็นต้นแบบขององค์ความรู้ด้านการดูแลผู้ป่วยสูงอายุเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนอีกด้วย” ผศ. พญ. ฐิติมา กล่าว
สำหรับ “ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช” อยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ประชาชนทั่วไปและผู้ที่สนใจสามารถร่วมสมทบทุนบริจาคสร้าง “ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช” ผ่านศิริราชมูลนิธิ (ศิริราชเพื่อผู้สูงวัย) ตามจิตศรัทธา ได้ที่ ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 901-7-06044-4, ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 016-4-57906-4, ธนาคารกสิกรไทย เลขที่บัญชี 063-3-16546-7บริจาคผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ AIS DTAC และ True โดยกด *984*100 # โทรออก ร่วมบริจาคครั้งละ 100 บาท และบริจาคออนไลน์ ผ่าน https://si-eservice.mahidol.ac.th/donation เพื่อเป็นพลังบุญอันยิ่งใหญ่ ในการร่วมสร้างสังคมผู้สูงวัยที่มีคุณภาพให้บรรลุตามวัตถุประสงค์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ผศ. พญ. ฐิติมากล่าวสรุป
ติดตามความเคลื่อนไหวของศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราชได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/SirirajAcg และงานประชาสัมพันธ์และกิจการพิเศษ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หรือโทร. 02-419-7646-8 (ในวันและเวลาราชการ)