In Thailand

เกษตรเกาะสมุยยันคุณภาพมังคุด-ทุเรียน กำลังออกสู่ตลาดผลิตด้วยระบบGAP



สุราษฏร์ธานี-เกษตรอำเภอเกาะสมุย  เชื่อมั่น คุณภาพผลไม้มังคุด ทุเรียนที่กำลังออกสู่ตลาด ช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม ได้ผลผลิตคุณภาพดี เพราะมีการส่งเสริมคุณภาพผลไม้ และการดูแลคุณภาพตามระบบ GAP ตั้งแต่เริ่มฤดูกาลผลิต

นางบังอร เพ็ชรรัตน์ เจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรชำนาญงาน รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอเกาะสมุย เปิดเผยว่า ช่วงปลายเดือนกันยายน 2566 ผลไม้ประเภท ทุเรียน มังคุด ของอำเภอเกาะสมุยจะทยอยออกสู่ท้องตลาดคาดการณ์ว่ามีทุเรียนประมาณ 5,000 ตัน และมังคุด  500 ตัน ซึ่งผลไม้ที่ออกจะไม่มีปัญหาเรื่องราคาเพราะขณะนี้ปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ท้องตลาดยังมีน้อย แต่ผลผลิตจะเพิ่มมากช่วงปลายปีที่ผลไม้ในพื้นที่ภาคใต้ลดลง 

ส่วน คุณภาพ ผลไม้ของเกาะสมุยคาดว่า จะไม่มีปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมาทางสำนักงานฯ ได้ลงพื้นที่ให้คำแนะนำ ส่งเสริมให้เกษตรกรดูแลการปลูกให้มีคุณภาพตามระบบ GAP จนสามารถเข้าสู่ระบบการตรวจรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้า GAP และเกษตรอินทรีย์ โดยพัฒนาและเตรียมความพร้อมของเกษตรกร ตั้งแต่การปรับสภาพพื้นที่ให้มีความเหมาะสม การบริหารจัดการน้ำ การผลิตปุ๋ยหมัก การส่งเสริมการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน ใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อทดแทนสารเคมีทางการเกษตร และการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน และช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ยังได้ขอความร่วมมือชาวสวนช่วยกันรักษาคุณภาพ รณรงค์ไม่ตัดทุเรียนอ่อน และล้งไม่รับซื้อทุเรียนอ่อน 

รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอเกาะสมุย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ช่องทางการระบายผลผลิตออกสู่ตลาด คือ เกษตรกรนำผลผลิตไปจำหน่ายเองที่ตลาดผลไม้จังหวัดชุมพร และการระบายผลไม้ผ่าน ผู้รวบรวม โรงคัดบรรจุ ผลไม้ (ล้ง) ที่เข้ามาตั้งจุดรับซื้อแบบเหมาสวนในเกาะสมุยแล้ว
คุณสิทธิชัย อินทร์พรหม เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนรายใหญ่ในพื้นที่ ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย กล่าวว่า ความกังวลของเกษตรผู้ปลูกผลไม้ของเกาะสมุย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขนส่งผลไม้ออกไปจำหน่าย เนื่องจาก การขนส่งที่สินค้าออกจากเกาะ ที่มีเวลาจำกัดเรื่องเที่ยวเรือ จึงอยากจะให้หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาช่วยเหลือประสานเรื่องเที่ยวเรือกับผู้ให้บริการเรือเฟอร์รี่ ได้มีการจัดสรรเที่ยวเรือให้กับรถบรรทุกผลไม้สามารถนำรถลงเรือเฟอร์รี่ช่วงเวลา 18.00 น หรือเที่ยวเย็นของทุกวัน เพื่อให้เกษตรกรสามารถระบายผลผลิตออกไปสู่ตลาดได้ทันเวลา และไม่มีผลผลิตตกค้างข้ามวันในพื้นที่อันจะทำให้ผลผลิตไม่ได้รับความเสียหายจากระบบการขนส่ง