Think In Truth
หาก'รากฐาน'ที่มั่นคงการต่อยอดก็ได้สูง โดย : ฟอนต์ สีดำ
คำแถลงนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ในวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ความตอนหนึ่งว่า “4 ปีข้างหน้าจะเป็น 4 ปีที่รัฐบาลจะวางรากฐาน และโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้กับประเทศ โดยยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งและน่าเชื่อถือ”
ในคำแถลงนโยบายก็จะเห็นคีย์เวิร์ดหลักสำคัญ ที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาของรัฐบาลในข้อความข้างต้นนี้ มีสองคำ คือ “รากฐาน” กับ “โครงสร้างพื้นฐาน” ที่มีกระบวนการพัฒนาภายใต้หลัก “นิติธรรม” หมายถึงระเบียบ กติกา ที่เป็นธรรมเป็นที่ยอมรับ ซึ่งก็พยายามตีความในความหมายคำว่า “เข้มแข็ง” ที่สามารถตีความไปในทางเปิดโอกาสให้อีกฝ่าย โดยกันไม่ให้อีกฝ่ายมีโอกาส ก็ไม่ แต่ด้วยเป็นนโยบายของรัฐบาล เลยตีความไปในทางที่เป็นโอกาสของทุกฝ่าย
“รากฐาน” ถ้าจะมองในหลักของนิเวศน์วิทยา ก็จะมองในเรื่องของความสมดุลของจตุธาตุ คือดิน น้ำ ลม ไฟ นั่นคือรัฐพึงพัฒนาให้เกิดความสมดุลของการแบ่งปันทรัพยากรดิน เพื่อร่วมกันพัฒนาทรัพยากรพิ้นฐานและวัตถุดิบ ในการพัฒนาผลผลิตที่สนองความต้องการของสังคม พัฒนาแหล่งน้ำให้สมบูรณ์เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาผลผลิตทั้งวัตถุพื้นฐานที่เป็นทรัพยากรและวัตถุดิบในการพัฒนาผลผลิตในการแปรรูปในทุกระดับ ลม ที่รัฐต้องทำการควบคุมให้ชั้นบรรยากาศที่มีความเหมาะสมในการดำรงอยู่ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ การท่องเที่ยว การผลิต และอื่นๆ ไฟ ซึ่งหมายถึงพลังงาน ที่รัฐต้องพัฒนาและกระจายให้เกิดการใช้พลังงานอย่างเป็นธรรม เพื่อการดำรงชีวิตและการผลิตที่สมดุลต่อระบบนิเวศน์ในทุกนิเวศน์ของประเทศ
สังคมระดับล่าง โดยเฉพาะสังคมเกษตรกรรม ที่รัฐบาลทุกรัฐบาลมักละเลยต่อการบริหารจัดการเชิงนโยบาย เพื่อความสมดุลและความมั่นคง จนพื้นฐานของสังคมเกษตรกรรมถูกกระทำจนอ่อนแอ ไม่ว่าจะกดราคาสินค้าทางการเกษตร เพิ่มราคาปุ๋ย สารเคมี พลังงาน ให้สูงขึ้น แย่งชิงแรงงานที่ควรต้องสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมเข้าสู่แรงงานภาคอุตสาหกรรม แล้วยกระดับราคาสินค้าและบริการอย่างอื่นให้สูงขึ้น แต่สังคมเกษตรกรรมกลับถูกเบียดบัง จนสังคมเกษตรกรรมต้องละทิ้งอาชีพ ละทิ้งพื้นที่เกษตรไปสู่การสะสมที่ดินของกลุ่มคนรวย เพื่อเป็นสินทรัพย์ในการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพอื่น อาชีพเกษตรกรรมที่เป็นอาชีพเดียวที่ก่อมูลค่าจากดินสู่การดำรงชีพของสังคม ถูกทำลายไปด้วยทรัพยากรที่ดินหลุดมือไปจากเกษตรกร เกษตรกรละทิ้งอาชีพไปสู่แรงงานอุตสาหกรรม สังคมที่ไม่มีผลผลิตจากการเกษตร ก็เสพสินค้าเพื่อการดำรงอยู่จากแหล่งอื่น ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของประเทศก็ค่อยๆ ถูกบั่นทอน
รัฐบาล ที่แถลงนโยบายออกมาต่อสภาเพื่อเป็นพันธสัญญาในการปฏิบัติ ควรต้องมองสังคมทุกภาคส่วน ให้เกิดการพัฒนาอย่างสมดุล รากฐานทางสังคมการผลิตทางการเกษตร รัฐควรต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพื่อลดการนำเข้าสินค้าเพื่อการกินอยู่ของประชาชน หรืออาจจะพัฒนาสินค้าที่ได้จากสังคมเกษตรไปสู่ผลผลิตที่สามารถนำส่งออกเพื่อนำเงินตราต่างประเทศ มาสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ผมก็ยินดีที่จะเข้ามาร่วมในการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมระดับล่างให้มีศักยภาพเป็นรากฐานทางทรัพยากรในการแปรรูปผลผลิตทางอุตสาหกรรมในอนาคต