Think In Truth

นายกฯวางแนวนโยบายเบิกจ่ายงบฯ67 โดย ฟอนต์ สีดำ



เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 ตุลาคม ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ชั้น 1 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้นำเหล่าทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยได้มอบแนวทางในการบริหารงบประมาณและการจัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไว้ 5 ข้อดังนี้

  1. ขอให้จัดทำงบและเบิกจ่ายงบประมาณตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภาไป และคำนึงถึงกรอบกฎหมายและวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ขอให้ทุกๆ หน่วยงานพิจารณาดูว่าอะไรที่ทำได้ก็ขอให้ดำเนินการทำไปก่อน แต่อย่าลืมเรื่องความถูกต้องตามกระบวนการ
  2. ขอให้ทุกหน่วยงานทำงานกันอย่างบูรณาการ วางแผนงบประมาณไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน หลายๆ โครงการในอดีตที่เคยทับซ้อนกัน ขออย่าให้เกิดภาพแบบนั้นอีกภายในรัฐบาลนี้
  3. ขอให้วางแผนและจัดทำงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) และมีประสิทธิผล (Productivity) คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐ และคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง การทำแผนงาน หรือโครงการ ขอให้ทำตามความจำเป็นเร่งด่วน และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน คำนึงถึงวินัยการเงินการคลังด้วย นโยบาย แผนงานใดที่ทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณก็เริ่มดำเนินการได้เลย ซึ่งโครงการเหล่านี้ ถือว่าจะมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะไม่ต้องใช้งบลงทุนสักบาท และขอให้ทำงบแบบฐานศูนย์ หรือ Zero-based โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่จะต้องมีรายละเอียดให้ชัดเจน และขอให้ทุกหน่วยงานนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิผลและเพิ่มความโปร่งใสในการทำงาน ทำให้ประชาชนเห็นว่าเงินภาษีของพวกเขาถูกใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าทุกบาท ทุกสตางค์
  4. โครงการ แผนงาน ต่างๆ จะต้องมีตัวชี้วัด (KPI) หรือมีเป้าหมาย (Target) ที่ก่อให้เกิดผลดีกับพี่น้องประชาชน หรือเกิดผลเชิงบวกทางเศรษฐกิจ ตนไม่สนับสนุนการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลให้ประเทศ ประชาชน เพราะจะเป็นการนำภาษีประชาชนไปละลายแม่น้ำซะเปล่าๆ ไม่สนับสนุนการนำงบประมาณไปทำอะไรที่ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีจุดประสงค์ที่จับต้องได้ ไม่มีความชัดเจน ฉะนั้น ขอให้พิจารณาลดแผนงานหรือโครงการต่างๆ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป หรือถ้าเป็นไปได้ก็ยกเลิกแผนงานหรือโครงการ ที่ไม่มีความชัดเจนไป เพื่อให้การใช้งบประมาณอย่างตรงเป้าหมายและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ นำงบประมาณไปใช้ทำโครงการอื่นที่เกิดผลเชิงบวกต่อไป
  5. ขอให้จัดทำแผนการใช้จ่ายโดยพิจารณาให้ครบทุกแหล่งเงินทุน (Source of funding) ทั้งเงินนอกงบประมาณและเงินงบประมาณ หลายๆ หน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณ เช่น รายได้ เงินสะสม ขอให้นำมาใช้ดำเนินภารกิจก่อน และขอให้ช่วยกันลดภาระงบประมาณประเทศ โดยพิจารณาการใช้เงินแหล่งอื่นๆ เช่น การร่วมมือกับภาคเอกชน หรือเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เป็นต้น

ซึ่งก็เป็นแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีแผนในการดำเนินการอย่างชัดเจน ที่จะต่อเนื่องกับโครงการที่ได้ทำมาแล้ว และมุ่งสร้างความต่อเนื่องในการพัฒนา แต่เสียดายที่ท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีแนวทางในการวางแผนการใช้งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2567 ที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยน์ต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติเป็นสำคัญ เพื่อให้นโยบายของภาครัฐที่นำไปสู่การปฏิบัติ จะได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ ถ้าท่านเพิ่มเติมสาระเข้าไปอีกนิดหนึ่ง พรรคเพื่อไทยที่เริ่มต้นการเป็นรัฐบาลติดลบ ก็จะได้คะแนนบวกขึ้นมาอีกมาก