In News
รัฐฯแจงประเด็นแต่งตั้ง'บิ๊กต่อ'นั่งผบ.ตร. ย้ำนายกฯใช้อำนาจเหมาะสมรอบด้าน
กรุงเทพฯ-โฆษกรัฐบาลชี้แจงประเด็นการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ดำเนินการตามตัวบทกฎหมาย ถูกต้องตามหลักการทุกประการ ย้ำนายกฯ ใช้อำนาจอย่างเหมาะสม ผ่านการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านแล้ว
วันนี้ (5 ตุลาคม 2566) เวลา 14.40 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณีที่พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ นำประเด็นการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ว่ามีการดำเนินการขัดต่อกฎหมาย โดยได้ไปร้องเรียนที่สำนักงาน ปปช. นั้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงในส่วนของข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ดังนี้
ด้านข้อกฎหมาย การแต่งตั้ง ผบ. ตร. เป็นไปตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ มาตรา 77 และมาตรา 78 โดยสาระสําคัญของตัวกฎหมายระบุว่า ผู้ที่จะเป็น Candidate ในการได้รับการเสนอชื่อหรือการแต่งตั้งให้เป็น ผบ.ตร. นั้น จะต้องเป็น รอง ผบ.ตร. หรือเป็นจเรตำรวจ ซึ่งในรอบวาระวันที่ 27 กันยายน 2566 มีผู้ที่เข้าคุณสมบัตินี้อยู่ คือ รอง ผบ.ตร. 4 ท่าน ในส่วนจเรตำรวจมีการเกษียณอายุราชการ ดังนั้นจึงเหลือ Candidate 4 ท่าน
ขณะที่กฎหมายในมาตรา 77 และมาตรา 78 ได้ระบุว่า เกณฑ์ในการคัดเลือกนั้น ให้ยึดถือทั้งอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน ซึ่งมีการแก้ไขกฎหมายใหม่ ก่อนหน้าปี 2565 นั้น ให้ยึดถืออาวุโสเป็นหลัก และได้มาแก้ให้พิจารณาเรื่องความรู้ความสามารถด้วย โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อ และที่ประชุม กตร. ลงมติโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งปรากฏว่าในวันนั้น ผู้ได้รับการเสนอชื่อและที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 9 เสียง ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง โดยทำให้ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้รับเลือกเป็น ผบ.ตร.
ด้านข้อเท็จจริง จาก Candidate ทั้ง 4 ท่าน ในแง่อาวุโส คนทั่วไปจะเข้าใจว่า Candidate ทั้ง 4 อันดับมีอาวุโสเรียงตามกัน ซึ่งไม่ใช่ โดยตามข้อเท็จจริง อาวุโสมีสองระดับ คือ 1 กับ 2-4 ซึ่งหนึ่งคือ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ซึ่งอาวุโสที่สุดมากกว่าอีก 3 ท่านหนึ่งปี ขณะที่อันดับรองลงมา ทั้ง 3 ท่าน มีอาวุโสเท่ากัน ขึ้นรอง ผบ. ตร. พร้อมกัน ในปีเดียวกัน
นอกจากนี้ ในเรื่องความรู้ความสามารถ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ฯ นั้น นายกรัฐมนตรีได้เปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นของคณะกรรมการ กตร. ในแง่ของมุมมอง ว่าความรู้ความสามารถของ Candidate แต่ละท่านนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งที่ประชุมได้ใช้เวลาพอสมควร เรียกว่าแทบจะทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ร่วมด้วย ผบ.ตร. (พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์) ในขณะนั้น ในฐานที่ผู้บังคับบัญชาของ Candidate ทั้ง 4 ได้เป็นผู้นำเสนอและประเมินแต่ละท่านด้วย
ดังนั้น ได้ฟังการประเมินความรู้ความสามารถอย่างรอบด้าน ซึ่งเมื่อประเมินแล้วเห็นว่า ความแตกต่างเรื่องอาวุโส ต่างกันเพียงแค่ปีเดียว แต่เรื่องของความรู้ความสามารถที่ได้ฟังจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจสะท้อนออกมา นายกรัฐมนตรีจึงได้ตัดสินใจเสนอชื่อพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ฯ ซึ่งที่ประชุมจากที่ได้ฟังการอภิปรายได้ฟังข้อมูลรอบด้าน เห็นชอบกับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี 9 ต่อ 1 เสียง
“ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริงตามตัวบทกฎหมาย ถูกต้องตามหลักการทุกประการ และข้อเท็จจริงมีความชอบธรรม สมเหตุสมผล ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้ลุแก่อํานาจ ท่านยึดตามหลักกฎหมายและได้ฟังอย่างรอบด้านแล้ว ส่วนกรณีที่มีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น ก็จะชี้แจงตามข้อเท็จจริง ถ้าต้องไปชี้แจงที่ไหนก็สามารถชี้แจงได้ ไม่ใช่เพียงตัวท่านนายกรัฐมนตรี ผู้ที่อยู่ในที่ประชุม ผู้ที่นั่งฟังอยู่เขารู้ว่าอะไรเกิดขึ้น ซึ่งสามารถชี้แจงได้ทุกคน” นายชัยฯ กล่าว