In Thailand
คนพังงาร่วมอนุรักษ์ประเพณีแห่ช่อเข้าวัด ในงานทำบุญวันสารทเดือนสิบวัดถ่ำ
พังงา –หาดูยาก ชาวบ้านอนุรักษ์ประเพณีแห่ช่อเข้าวัด ทำบุญวันสารทเดือนสิบ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ
วันที่14 ตุลาคม 2566 ที่วัดสุวรรณคูหา (วัดถ้ำ) ม.2 ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา พุทธศาสนิกชนจำนวนมากร่วมงานประเพณีวันสารทเดือนสิบ (วันส่งตายาย) ประจำปี 2565 โดยก่อนพิธีกรรมทางพระ แต่ละหมู่บ้านได้ร่วมกันสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีแห่ช่อ หรือแห่จาด ซึ่งมีลักษณะคล้าย ๆ กับการแห่หมฺรับ ของจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ ถือว่าเป็นเป็นงานบุญใหญ่ที่สำคัญที่สุดปีละครั้งของชาวใต้ ตามความเชื่อว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 (วันรับตายาย) และกลับไปสู่นรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 (วันส่งตายาย) และยังถือเป็นวันรวมญาติอีกด้วย เพราะหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่ไปทำงาน หรือศึกษาต่อในต่างจังหวัดก็จะพร้อมใจกันเดินทางกลับมาบ้านร่วมทำบุญให้กับบรรพบุรุษพร้อมกับคนในครอบครัว ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคักคักเป็นอย่างยิ่ง
ประเพณีวันสารทเดือนสิบของชาวไทยพุทธทางภาคใต้ ประชาชนส่วนใหญ่จะนำปิ่นโตอาหาร ขนมเดือนสิบ อาทิเช่น ขนมต้ม ขนมเทียน ขนมท่อนใต้ ข้าวพอง ขนมลา ขนมบ้า มาร่วมทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษ และยังมีการวางข้าวสารอาหารแห้ง อาหารคาวหวาน ขนมสารทเดือนสิบ รวมถึงเงินเหรียญและธนบัตร พร้อมเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับ ญาติ บรรพบุรุษ ใส่ร่วมกับสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำวางไว้ที่ลานชิงเปรต ซึ่งจะมีกลุ่มชาวมอแกน หรือไทยใหม่หรือชาวเล มาร่วมรับบุญเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้พบว่ามีผู้เข้าร่วมประเพณีวันสารทเดือนสิบกว่าหนึ่งพันคน ทำให้บรรยากาศภายในวัดสุวรรณคูหา คึกคักเป็นอย่างมาก
นายการุณ ระหาร ผู้ใหญ่บ้าน ม.บ้านถ้ำ เปิดเผยว่า การประเพณีแห่ช่อนั้น ในอดีตนั้นชาวบ้านในตำบลกระโสม เมื่อเริ่มเข้าสู่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นวันรับตายาย แต่ละหมู่บ้านก็จะใช้ไม้ไผ่ทำเป็นราวแขวน ไปตั้งไว้ตามร้านค้าและศาลาหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านได้ร่วมนำสิ่งของต่าง ๆ ทั้งสินค้าเกษตร สิ่งของอุปโภคบริโภคมาแขวนไว้ที่ราว พอถึงวันทำบุญใหญ่สารทเดือนสิบหรือวันส่งตายาย แต่ละหมู่บ้านก็จะช่วยกันแบก และแห่ขบวนนำไปถวายให้วัด ปัจจุบันนับว่าหาดูได้ยากแล้ว ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานไม่ให้ประเพณีที่ดีงามของบรรพบุรุษหายไปตามกาลเวลา