Travel Sport & Soft Power
อินทัชร่วมสสน.ช่วยแก้ภัยแล้งบ้านวังยาว
ร้อยเอ็ด-อินทัช ร่วมกับ สสน.บรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่ชุมชนบ้านวังยาว จ.ร้อยเอ็ด ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการบริหารจัดการน้ำด้วยตนเองอย่างยั่งยืน
วันที่ 8 เมษายน 2564 บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) หรือ สสน. บริหารจัดการน้ำด้วยการส่งเสริมให้ชุมชน บ้านวังยาว ต.พลับพลา อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด สามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเองโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง นำข้อมูลแผนผังแหล่งน้ำในพื้นที่ไปวิเคราะห์เพื่อวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม
จากสภาพพื้นที่ของชุมชนบ้านวังยาวเป็นที่ราบลุ่ม ติดแม่น้ำชีทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนไม่น้อยกว่า 4 เดือน สร้างความเสียหายกับพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะนาข้าว ส่วนในฤดูแล้งช่วงกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ประสบภาวะน้ำแล้ง เพราะแหล่งน้ำตื้นเขินจัดเก็บน้ำไม่ได้เต็มที่ ประกอบกับขาดการเชื่อมโยงแหล่งน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่แต่ละแห่ง ทำให้เกษตรกรโดยรอบ 4 หมู่บ้าน 240 ครัวเรือน ในพื้นที่กว่า 1,300 ไร่ ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และทำเกษตรกรรม
นายคิมห์ สิริทวีชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “อินทัชมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้ดีขึ้นด้วยการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ให้ชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง สามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง โครงการบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงถูกริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ในปีแรก เราพบว่านักเรียนโรงเรียนวังยาวเจริญวิทย์ขาดแคลนน้ำดื่มสะอาดที่ได้มาตรฐาน อินทัชจึงสนับสนุนการจัดทำระบบผลิตน้ำดื่มด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมระบบสำรองน้ำจากน้ำฝนให้กับโรงเรียน และสนับสนุนตู้กดน้ำหยอดเหรียญแก่ชุมชนบ้านวังยาวให้สามารถมีน้ำบริโภคได้ในราคาประหยัด และเป็นรายได้เสริมแก่โรงเรียนในระยะยาว หลังจากนั้นจึงขยายผลมาสู่การบริหารจัดการน้ำชุมชน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และการขาดแคลนน้ำสำหรับเกษตรกรรม เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้”
แนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ : เรียนรู้ ปฏิบัติ บริหาร วางแผน และพัฒนา
1. นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาวางแผน พัฒนาและบริหารจัดการ มีชุมชนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ปฏิบัติ และกำหนดกฎกติการ่วมกันทำงานด้วยความโปร่งใส มีการติดตาม ประเมินผล และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
2. จัดทำข้อมูลด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการจัดการน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาทิ การจัดทำข้อมูลชุมชน แผนที่และแผนผังแหล่งน้ำ ร่วมกันศึกษาแนวทางพัฒนาและบริหารแหล่งน้ำของตนเอง
3. ปรับวิถีการดำเนินชีวิตตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ และสังคม ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
แผนงานบริหารจัดการน้ำชุมชนระหว่างปี 2562-2565
จากการสำรวจภายหลังการดำเนินงาน พบว่าก่อให้เกิดประโยชน์กับคนใน 4 หมู่บ้าน 1,140 ราย 240 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 1,300 ไร่ โดยสามารถสำรองน้ำในระบบได้กว่า 269,000 ลูกบาศก์เมตร ชุมชนมีรายได้เฉลี่ยจากการทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นกว่า 60% ทั้งนี้ แผนงานบริหารจัดการน้ำ ประกอบด้วย
• จัดอบรม ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้นำชุมชน และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือระบุตำแหน่งบนพื้นผิวโลก (GPS), แผนที่ภูมิศาสตร์ (GIS), ร่วมกับการใช้โปรแกรมจัดทำแผนที่ (QGIS) สำรวจพื้นที่เก็บข้อมูลแหล่งน้ำเป็นฐานข้อมูลของชุมชน เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเรียนรู้ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้งผ่านแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ เพื่อวางแผนรับมือกับภัยพิบัติได้ในอนาคต
• จัดอบรม ศึกษาดูงานร่วมกับเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชน นำมาปรับใช้ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่
• ร่วมกันสร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็กแกนดิน ณ กุดชีเฒ่า เพื่อกักเก็บสำรองน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยสามารถเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น 2 เมตร และมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 240,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เกษตรกรโดยรอบมีน้ำในการทำเกษตร มีแหล่งอาหารจากการทำประมงพื้นบ้าน ช่วยสร้างอาชีพ และรายได้เสริม
• ขุดลอกคลองไผ่และสร้างอาคารยกระดับน้ำ และเสริมท่อลอดเชื่อมต่อคลองไผ่ และกุดชีเฒ่า เพื่อเก็บและผันน้ำในช่วงฤดูแล้งให้กับพื้นที่การเกษตร
• ขุดลอกหนองก่ำ เพื่อกั้นแนวเขตเพิ่มขึ้นจากเดิม 4 ไร่ เป็น 6 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำหลาก และเก็บน้ำในฤดูแล้ง รวมถึงขุดลอกคลองส่งน้ำเดิม (คลอง อบต.) เป็นคลองดักและผันน้ำหลากสามารถเก็บน้ำในคลองได้ 14,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร
• สำหรับปี 2564-2565 มีแผนขุดลอกแนวกั้นหนองก่ำ อาคารยกระดับน้ำ เชื่อมต่อคลองดักน้ำหลาก และเก็บสำรองน้ำในหนองฮี พร้อมวางท่อระบายน้ำหลากลงแม่น้ำชีลัด รวมถึงวางระบบสูบน้ำบนผิวดินเพื่อผลิตประปาหมู่บ้าน
ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ รองผู้อำนวยการ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) กล่าวว่า “สสน.ส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน เช่น แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลสถานการณ์น้ำ เพื่อตัดสินใจหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำของชุมชนอย่างเหมาะสมกับภูมิสังคม ชุมชนสามารถเป็นผู้ลงมือปฏิบัติเองได้ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและดูแลรักษาซ่อมบำรุงอย่างเป็นระบบ เรียนรู้ช่องทางการติดตามสถานการณ์น้ำผ่านแอปพลิเคชัน สามารถประเมินสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้งได้ ช่วยให้ชุมชนมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคและการเกษตร วางแผนการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม พัฒนาศักยภาพชุมชนให้เป็นเจ้าของและเพิ่มโอกาสด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนได้ด้วยตนเอง เกิดความมั่นคงด้านน้ำ อาหาร รายได้ทางการเกษตร และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนได้ในระยะยาว”
อินทัช มุ่งหวังว่าการส่งเสริมให้ชาวบ้านและชุมชนโดยรอบสามารถเรียนรู้ บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง จะช่วยให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และเกิดความสมดุลของระบบนิเวศโดยรวมต่อไป