In Bangkok
กทม.ติดตามความคืบหน้าพัฒนา3คลอง 'ลาดพร้าว-คลองเปรมฯและแสนแสบ'
กรุงเทพฯ-กทม.เร่งติดตามความคืบหน้าการพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ พร้อมเร่งพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ทุกคลองในพื้นที่กรุงเทพฯ
(26 ต.ค.66) เวลา 13.30 น. นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าแนวทางการพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ โดยมี นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ผู้อำนวยการเขต ผู้บริหารเขตและผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองเปรมประชากร เร่งติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) โดยให้การก่อสร้างบ้านมั่นคงควบคู่กับเขื่อนพร้อมสำรวจความเดือดร้อนผลกระทบจากการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับท่อระบายน้ำของชุมชนและประชาชน รวมถึงการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างริมคลอง ได้มาเยี่ยมชมโครงการ “บ้านมั่นคง” ที่ก่อสร้างเสร็จและมีผู้อาศัยแล้วเพื่อให้เห็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตและโอกาสในการดำเนินชีวิต สร้างแรงจูงใจในการตัดสินใจรื้อย้ายและเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ทุกคลองในพื้นที่กรุงเทพฯ อาทิ การติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง การปรับปรุงและซ่อมบำรุงทางเดินริมคลอง การบำบัดน้ำเสียของชุมชนริมคลอง รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพอากาศจากมลพิษของการเดินเรือในคลองต่างๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการพัฒนาคลองลาดพร้าว ความยาว 22,050 ม. ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแล้ว 12,330 ม. จากความยาวเขื่อน 24,660 ม. ก่อสร้างทางเดินริมคลองแล้ว 23,350 ม. โดยโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร จากสุดเขตกรุงเทพฯ ถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ (ข้อมูล ณ 24 ต.ค.66) พบว่า ช่วงที่ 1 จากคลองบ้านใหม่ ถึงบริเวณหมู่บ้านแกรนด์คาแนล ความยาวประมาณ 581 เมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 224 วัน ดำเนินการแล้วเสร็จ ช่วงที่ 2 จากสุดเขตกรุงเทพฯ ถึงคลองบ้านใหม่ และจากหมู่บ้านแกรนด์คาแนลถึงถนนสรงประภา ความยาวรวมประมาณ 5,000 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ ร้อยละ 8.50 ช่วงที่ 3 จากถนนสรงประภาถึงถนนแจ้งวัฒนะ ความยาวประมาณ 10,000 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ ร้อยละ 12.70 ช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ความยาวประมาณ 10,700 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ ร้อยละ 26.80 ปัญหาอุปสรรคที่เป็นประเด็นสําคัญ คือ 1. การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนมีความล่าช้า โดยส่งมอบได้เป็นช่วงสั้น ๆ ไม่ต่อเนื่อง และ 2. มีการก่อสร้างบ้านมั่นคงก่อนการก่อสร้างเขื่อน
ในส่วนของการก่อสร้างบ้านมั่นคงคลองเปรมประชากร ซึ่งมีชุมชนริมคลองที่อยู่ในแผนการพัฒนาตามแผนแม่บทฯ 38 ชุมชน 6,386 ครัวเรือน ระยะความยาวคลองประมาณ 17 กม. โดยในส่วนของพื้นที่เขตจตุจักร ความยาวคลอง 4.4 กม. ประกอบด้วยชุมชนที่มีการบุกรุกคลอง จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ 1. ชุมชนประชาร่วมใจ เดิมมีผู้บุกรุก 230 ครัวเรือน ปัจจุบันสร้างบ้านมั่นคงแล้ว จำนวน 283 ครัวเรือน มีผู้เข้าอยู่อาศัยแล้วทั้งหมด 2. ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เดิมมีผู้บุกรุก 165 ครัวเรือน ปัจจุบันสร้างบ้านมั่นคงแล้ว จำนวน 197 ครัวเรือน มีผู้เข้าอยู่อาศัยแล้วทั้งหมด และ 3. ชุมชนสามัคคีเทวสุนทร เดิมมีผู้บุกรุก 65 ครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรื้อย้ายบ้าน รื้อย้ายแล้วจำนวน 55 ครัวเรือน เหลือบ้านรุกล้ำ 10 ครัวเรือน
การพัฒนาที่อยู่อาศัย "บ้านมั่นคง" ชุมชนริมคลองเปรมประชากร พื้นที่เขตหลักสี่ 13 ชุมชน 2,248 ครัวเรือน ความคืบหน้างานก่อสร้าง ณ ชุมชนตลาดหลักสี่ จำนวน 101 ครัวเรือน ความคืบหน้าทั้งโครงการ ร้อยละ 97.36 ชุมชนหลักสี่พัฒนา 99 จำนวน 37 ครัวเรือน ความคืบหน้าทั้งโครงการ ร้อยละ 91.59 ชุมชนศิษย์หลวงปู่ขาว จำนวน 38 ครัวเรือน ความคืบหน้าทั้งโครงการ ร้อยละ 65.20 ในส่วนของสหกรณ์เคหสถานเทวมั่นคง จำกัด สหกรณ์เคหสถานชุมชนมิตรประชาพัฒนา จำกัด สหกรณ์เคหสถานชุมชนร่วมพัฒนา จำกัด สหกรณ์เคหสถานแจ้งวัฒนะ 5 จำกัด สหกรณ์เคหสถานคลองเปรมประชาพัฒนา จำกัด ชุมชนคนรักถิ่น ชุมชนเปรมสุขสันต์ ชุมชนตลาดบางเขน อยู่ระหว่างการเจรจาพูดคุยทำความเข้าใจและรื้อย้ายอาคาร ความคืบหน้ารื้อย้ายบ้านรุกล้ำริมคลองเปรมประชากรในพื้นที่เขตดอนเมือง ความยาว 13.1 กม. จำนวน 14 ชุมชน 2,535 ครัวเรือน รื้อถอนแล้ว 352 ครัวเรือน ยังไม่รื้อถอน 1,855 ครัวเรือน
การสำรวจบริเวณที่มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวเขตคลองสาธารณะในพื้นที่ 50 เขตจากเดือน เม.ย.65 - ก.ย.66 พบว่า สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำทั้งหมด 11,219 หลัง รื้อย้ายแล้ว 2,715 หลัง ยังไม่รื้อย้าย 8,504 หลัง ซึ่งสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวเขตคลองสาธารณะอยู่ในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือมากที่สุด โดยจะมีการรายงานการสำรวจบริเวณที่มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวคลองในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มเติมผ่านช่องทางระบบออนไลน์ภายในวันที่ 25 ของทุกเดือน
การจัดการน้ำเสียของอาคารรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานราชการในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม.ได้ดำเนินการขอความร่วมมือให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจตรวจสอบอาคารของตนให้มีการระบายน้ำเสียเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร จำนวน 19 กระทรวง และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ จำนวน 9 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 28 หน่วยงาน (657 อาคาร) ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐมีหนังสือประสานขอให้ทางสำนักการระบายน้ำเข้าตรวจสอบระบบบำบัดน้ำและคุณภาพน้ำแล้วจำนวน 3 อาคาร มีหน่วยงานแจ้งว่าอาคารมีการบำบัดน้ำทิ้งที่ออกจากอาคาร มีคุณภาพเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 44 (พ.ศ.2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จำนวน 79 อาคาร รวมเป็น 82 อาคาร ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการออกหนังสือติดตามขอความร่วมมือให้ตรวจสอบการบำบัดน้ำทิ้งที่ออกจากอาคารของแต่ละหน่วยงาน
การติดตั้งถังดักไขมันและการจัดเก็บไขมันในพื้นที่รัศมี 500 เมตร ริมคลองแสนแสบและคลองสาขา มีเป้าหมายในการติดตั้งถังดักไขมัน ปี 2566 จำนวน 4,487 ดำเนินการติดตั้งแล้ว 3,334 ถัง จาก 21 สำนักงานเขต คิดเป็น 74.30% (ข้อมูล ณ 25 ต.ค.66) การประเมินผลการติดตั้งถังดักไขมันในชุมชนต้นแบบที่ติดตั้งในปี 2565 จำนวน 2,877 ถัง ดำเนินการประเมินผลแล้ว 2,291 ถัง คิดเป็น 79.63% ใช้งานได้ดี 2,287 ถัง ชำรุด 4 ถัง จัดเก็บไขมันได้ทั้งหมด 15.70 ลบ.ม. คิดเป็น 1.32 ลบ.ม./เดือน โดยส่วนใหญ่จะดำเนินการจัดเก็บไขมัน 1 ครั้ง/สัปดาห์ (ข้อมูล ณ 25 ต.ค.66) นอกจากนี้มีการรายงานผลการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียต้นทางในตลาดประเภทที่ 1 (รัฐและเอกชน) รวมจำนวน 145 แห่ง ดำเนินการตามแผนแล้วเสร็จ 44 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 30 และยังมีการจัดการน้ำเสียของตลาด 12 แห่ง ในการกำกับดูแลของสำนักงานตลาดกทม. อีกด้วย
นอกจากนี้ มีการรายงานแนวทางการพัฒนาคลองแสนแสบจากบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถึง สุดเขตกรุงเทพฯ ความยาวคลองทั้งสิ้น 47.5 กม อาทิ งานก่อสร้างทางเดินและทางรถจักรยานริมคลองแสนแสบ จากบริเวณซอยสุขุมวิท 39 ถึงบริเวณสะพานอโศก(ครั้งที่ 2) ระยะทาง 2,033 เมตร ผลการดำเนินการ 20% โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและประตูเรือสัญจรคลองแสนแสบ ตอนคลองบางชัน(ครั้งที่ 2) ระยะทาง 2,000 เมตร ผลการดำเนินการ 33% โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมทางเดินริมคลองแสนแสบ จากบริเวณประตูระบายน้ำหนองจอกถึงสุดเขตกรุงเทพฯ และคลองนครเนื่องเขต จากคลองแสนแสบถึงบริเวณคลองหลวงแพ่ง ระยะทาง 6,680 เมตร ผลการดำเนินการ 91% และการนำเสนอโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองสามเสนด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วย กิจกรรมฟื้นฟูคลองสามเสน การปรับปรุงทางกายภาพริมคลองสามเสน อาทิ จัดระเบียบระบบสาธารณูปโภคริมคลองและข้ามคลองสามเสน การปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลอง การปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่างริมคลองสามเสน ติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV ปรับปรุงการเดินเรือในคลองสามเสน ท่าเทียบเรือ จุดเชื่อมต่อ ล้อ-ราง-เรือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต/เศรษฐกิจชุมชน การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว/ศิลปวัฒนธรรม