Travel Sport & Soft Power

รมต.ท่องเทียวเปิดแห่เรือพระพนมทางบก คลื่นมหาชนร่วมคึกคักประเพณีชักพระ



สุราษฏร์ธานี-รมต.ท่องเทียว เปิดงาน มวลชนนับหมื่นร่วมขบวนแห่เรือพระพนมทางบก ในงานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีประจำปี 2566

วันนี้(30 ต.ค.66)  ที่บริเวณถนนดอนนก หน้าศูนย์ราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี  นายเจษฎา  จิตรัตน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี  มอบหมายให้นายนันธวัช  เจริญวรรณ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี  กล่าวต้อนรับนางสาวสุดาวรรณ  หวังศุภกิจโกศล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  ในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานเปิดการประกวดเรือพนมพระทางบกและปล่อยขบวนแห่เรือพนมพระทางบกฯ  ในงานประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งเรือยาว  จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประจำปี 2566  โดยหน่วยงานภาครัฐ  ภาคเอกชน  ร่วมกับคณะสงฆ์  และประชาชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม  - 3 พฤศจิกายน 2566  ซึ่งในปีนี้มีประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมรับชมความงดงามและร่วมขบวนแห่เรือพนมพระนับหมื่นคน  บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก   โดยมีเรือพนมพระจากวัดต่างๆ ทั้ง 19 อำเภอ  เข้าร่วมจำนวน 112  ลำ  เป็นการอนุรักษ์สืบสานไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรมของจังหวัดสุราษฎร์ธานี 

สำหรับประเพณีชักพระ  เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวปักษ์ใต้  ทำบุญหลังวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี  โดยเชื่อกันว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา  เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จมายังโลกมนุษย์พุทธศาสนิกชน   จึงมารอรับเสด็จแล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าขึ้นประทับบนบุษบก แล้วแห่ไปรอบเมือง  โดยเรือพนมพระเป็นรถหรือล้อเลื่อนที่ประดับตกแต่งให้เป็นรูปเรือ แล้ววางบุษบกสำหรับอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐาน  แล้วลากหลังวันออกพรรษา  สมัยก่อนจะทำเป็นรูปเรือใช้ไม้ไผ่สานแล้วตกแต่งเป็นรูปพญานาคใช้กระดาษสีเงินสีทองทำเป็นเกล็ดกลางลำตัว  ทำเป็นร้าน เรียกว่า "ร้านม้า"  และส่วนที่สำคัญที่สุด คือ บุษบก  ซึ่งแต่ละวัดจะออกแบบอย่างสวยงาม  หลังคานิยมทำเป็นรูปจัตุรมุข ตกแต่งด้วยหางหงส์ช่อฟ้า ใบระกา และทุกครัวเรือนในชุมชนจะทำขนมต้ม  เพื่อนำไปแขวนที่เรือพนมพระของวัดต่างๆ  รวมทั้งจะมีการจัดทำพุ่มผ้าป่า  และชักพุ่มผ้าป่าหน้าบ้าน โดยเป็นการรวมตัวของชาวบ้าน  เพื่อร่วมทำกิจกรรมเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคี  และรวมสืบทอดประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สืบไป.