In News
วิศวะหนุ่มทำ'ฟาร์มปูนาน้ำใส'อาชีพเสริมเงินแสน
ราชบุรี-“ปูนา” เป็นสัตว์ประจำท้องถิ่นของไทย และเป็นสัตว์เศรษฐีกิจที่มีความการจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่ก็สัตว์ที่หลายคนมองข้ามไม่เห็นคุณค่าและมูลค่าของมัน แต่ในวันนี้ หนุ่มวิศวกร เจ้าของฟาร์ม “ณิชา ฟาร์มปูนาน้ำใส” กับให้ความสนใจและศึกษาเรียนรู้อย่างจริงจัง เพาะเลี้ยงอย่างจริงจัง เพื่อหวังจะให้ปูนา กลับมาเป็นสัตว์เศรษฐีกิจในท้องถิ่น โดยได้เนรมิตพื้นที่ภายในบ้านเพราะเลี้ยงปูนาน้ำใส ไร้สาร ไร้พยาธิ โดยมุ่งหวังจะขยายพันธุ์จำหน่าย ให้กับบุคคลที่สนใจเลี้ยงปูนา นำไปเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้ เนื่องจากปูนาปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดมาก นอกจากนี้ทางฟาร์มยังมีการแปรรูปปูนา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประสบผลสำเร็จมาแล้ว จนเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงปูนาน้ำใส และหาแหล่งจำหน่ายให้กับบุคคลที่สนใจเลี้ยงปูนา
วันที่ 12 เม.ย.64 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยัง “ณิชา ฟาร์มปูนาน้ำใส” ที่ตั้งอยู่เลขที่ 13/6 หมู่ 7 ต.หนองกลางนา อ.เมือง จ.ราชบุรี เพื่อพบกับ นายประพันธ์ ฤาชัย หรือ คุณฝุ่น อายุ 51 ปี เจ้าของ ณิชา ฟาร์มปูนาน้ำใส โดยได้นำผู้สื่อข่าวเข้าดูการเลี้ยงขยายพันธุ์ปูนาน้ำใส ไร้สาร ปลอดพยาธิ ที่ใช้วิธีการเลี้ยงแบบบ่อซีเมนต์และระบบน้ำวน หลังใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำ ทำการเพาะขยายพันธุ์ปูนาน้ำใส เพื่อจำหน่ายให้กับบุคคลที่สนใจเลี้ยงปูนาน้ำใส มาเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจปูนาน้ำใส ที่กว่าจะประสบความสำเร็จดังทุกวันนี้ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว
โดย นายประพันธ์ ฤาชัย ให้ข้อมูลว่า ตนเป็นพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ด้วยความอยากหาอาชีพรองรับในช่วงที่ตนจะเกษียน และหากิจกรรมสำหรับครอบครัว ที่สามารถทำร่วมและเป็นรายได้ให้กับครอบครัวได้ จึงได้ศึกษาข้อมูลการเลี้ยงปูนาน้ำใสจากฟาร์มหลายแห่งมากว่า 4 ปี ก่อนจะตัดสินใจทำฟาร์มปูนาน้ำใส แบบครบวงจร มากว่า 6 เดือน โดยการเลี้ยงปูนาน้ำใส จะใช้น้ำประปาเลี้ยงในบ่อปูน หรือบ่อผ้าใบ ไม่ให้ปูนาสัมผัสกับพื้นดิน น้ำที่ใช้จะต้องเป็นน้ำสะอาด ที่ไม่มีพยาธิและปรสิต หรือเชื้อโรคต่างๆ
วิธีการเลี้ยงจะคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่แข็งแรงมาผสมและเพาะพันธุ์ โดยระยะเวลาในการเลี้ยงปูนารุ่นหนึ่งจะใช้เวลา 6 เดือน จะสามารถนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ ที่ฟาร์มจะเลี้ยงปูนาในระบบน้ำวน เพื่อให้น้ำไม่นิ่งคล้ายธรรมชาติ ส่วนอาหารของปูนาจะมีหลากหลาย เช่น ข้าวสวยผสมเนื้อปลาสด, ขนมปัง, กล้วย, มะละกอ ซึ่งจะให้ทุกวันสลับกันไป แต่จะมีแคลเซียมเสริม 2 ครั้งต่อเดือน เพื่อเสริมให้กระดองแข็งแรง พันธุ์ปูนาที่นำมาเลี้ยงมี 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์พระเทพ และพันธุ์กำแพง
นายประพันธ์ ฤาชัย กล่าวต่อว่า ปูในฟาร์มจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มปูนาอนุบาล, กลุ่มปูนาหนุ่มสาว อายุประ 2 - 4 เดือน และกลุ่มพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ อายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ส่วนความแตกต่างระหว่างปูนาตามท้องนากับปูนาน้ำใส คือ ปูนาตามท้องนาจะอยู่กับพื้นดิน ซึ่งจะมีสารเคมีต่างๆทำให้ปูนาจะมีพยาธิและปรสิตเยอะ แต่ปูนาน้ำใสจะไม่มีพยาธิหรือปรสิต เพราะเราเลี้ยงอยู่ในน้ำที่สะอาดและระบบน้ำวนตลอด ซึ่งที่ฟาร์มจะมีการรับซื้อปูนาจากชาวบ้านที่จับได้ตามท้องนา และมาเข้ากรรมวิธีฟอกปอด โดยนำปูนาท้องนามาอยู่ในบ่อคัดแยกโดยจะใส่ใบหูกวางเพื่อฆ่าเชื้อในน้ำ โดยจะพักเลี้ยงฟอกปอดนาน 5-10 วัน ก่อนเพื่อให้มั่นใจว่าปูไม่มีพยาธิและปรสิตแล้ว ถึงจะเอามาลงบ่อรวมกับปูนาน้ำใสภายในฟาร์มได้
ปัจจุบันทางฟาร์มจำหน่ายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ อายุ 1 - 4 เดือนคู่ละ 60 บาท อายุ 5 - 7 เดือนคู่ละ 80 บาท ส่วนปูตัวเมียที่มีไข่จะขายตัวละ 200 บาท โดยทุกส่วนของปูนาน้ำใส จะสามารถนำมาจำหน่ายได้หมด โดยถ้านำไปชำแหละราคาจะปรับขึ้น ซึ่งก้ามปู กก.ละ 700 บาท, มันปู กก.ละ 1,000-1,200 บาท, กระดองปูตากแห้ง กก.ละ 700 บาท, อกปู กก.ละ 70 บาท หรือจะนำไปแปรรูปขายเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆเช่น น้ำพริกเผาปูนาและอีกมากมาย โดยตอนแรกท่ฟาร์มจะมีรายได้ตกอยู่ประมาณ 50,000 - 60,000 บาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันมีรายได้ตกอยู่ที่เดือนละ 5,000 - 10,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากทางฟาร์มผลิตลูกปูนาและพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่พอจำหน่ายให้กับบุคคลที่สนใจนำไปเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้
นายประพันธ์ ยังกล่าวต่อว่า ธุรกิจเลี้ยงปูนาน้ำใส ยังไปต่อได้อีกไกลเรียกว่าไม่มีหยุด เพราะตอนนี้ตลาดปูนามีความต้องการเป็นอย่างมาก แต่ผู้ประกอบการกลับไม่พอขาย ซึ่งถ้าใครสนใจอยากจะเรียนรู้หรือศึกษาการเลี้ยงปูนาน้ำใส ทางฟาร์มยินดีที่แนะนำขั้นตอนการเลี้ยงทุกขั้นตอน ทั้งการทำผลิตภัณฑ์แปรรูป และให้คำปรึกษาหาแหล่งจำหน่าย โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เพจเฟซบุ๊ค ณิชา ฟาร์มปูนา หรือโทร 0898011690 (คุณฝุ่น)
ขณะเดียวกัน นายสุวิทย์ จินดาเจี่ย อายุ 58 ปี อดีตรองนายกอบต.หนองกลางนา ได้กล่าวว่า ในส่วนของตนคิดว่า จะเข้ามาสนับสนุนและต่อยอดผลักดันการเลี้ยงปูนาน้ำใส ให้เป็นวิสาหกิจชุมชน ให้ชาวบ้านในพื้นที่มาศึกษาดูงาน อาจจะจัดตั้งให้ผู้สูงอายุหรือกลุ่มคนว่างงาน เข้ามาทำตรงนี้จะได้มีรายได้ ซึ่งการเลี้ยงปูนาน้ำใสสามารถเลี้ยงอยู่กับบ้านได้ และเป็นงานที่ไม่หนักเกินไปสำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย
สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี