Travel Sport & Soft Power

อว. บพข. สกสว.ร่วมมืออบก.และTEATA เปิดใช้งานแอปฯ'ZERO CARBON'



กรุงเทพฯ-กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) แผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก./TGO) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน./TCEB) ร่วมแถลงข่าวเปิดการใช้งานแอปพลิเคชัน “ZERO CARBON” เพื่อใช้ในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชดเชยคาร์บอนจากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์โดยได้รับเกียรติจากคุณสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไทกรุงเทพ

แอปพลิเคชัน “ZERO CARBON”เกิดจากการพัฒนาชุดแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับผู้ประกอบการเพื่อใช้ในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชดเชยคาร์บอน จากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์”สนับสนุนทุนวิจัยโดย บพข. กองทุน ววน.พร้อมใช้งานบนสมาร์ทโฟน โดยช่องทางการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน“Zero Carbon” ได้แก่ Google Playและ App Storeซึ่งมีความสะดวกและรวดเร็วต่อการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการวัด การลด และการชดเชยคาร์บอนได้ด้วยตนเองบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมชดเชยคาร์บอนผ่านแอปพลิเคชัน มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)กล่าวว่า งานในวันนี้ไม่เพียงแต่เป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและไมซ์ของประเทศไทยสู่ความยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังถือเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมอนาคตที่ยั่งยืนโดยเป้าหมายอันใกล้ คือ การสร้างประเทศให้กลายเป็นประเทศสังคมคาร์บอนต่ำ และสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ในปี 2050 และเป้าหมายในระยะยาว คือ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Greenhouse Gas ในปี 2065

การบูรณาการการทำงานระหว่างรัฐ กับภาคเอกชน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศนี้ อว.จะต้องพึ่งพาข้อมูล องค์ความรู้ วิทยาการต่างๆ ตลอดจนภาคีเครือข่ายจำนวนมาก ซึ่งกระทรวง อว.ได้เน้นหลักการสำคัญคือ "เอกชนนำ รัฐสนับสนุน" โดยให้เอกชนซึ่งเป็นผู้ที่จะใช้ประโยชน์ทำหน้าที่กำหนดทิศทางว่าควรจะทำเรื่องอะไร อย่างไร แล้วสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะเข้าไปดำเนินการสนับสนุนอย่างเต็มกำลังโดยใช้ความต้องการเป็นตัวนำ และท่านรัฐมนตรี เน้นย้ำอยู่เสมอ คือ การบูรณาการทำงานเชื่อมประสานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ นักวิจัย สถาบันการศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสุชาดา กล่าวเสริม

ด้านรศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)กล่าวว่า ในวันนี้ เป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์เพื่อนำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลกที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทย

แอพพลิเคชั่น Zero Carbon นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวได้มีเครื่องมือที่ช่วยประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางท่องเที่ยว พร้อมทั้งมีการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการซื้อขาย ด้วยเหตุนี้แอพพลิเคชั่นนี้จึงถือเป็นการตอบโจทย์ที่สำคัญ ที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวได้ตระหนักถึงผลกระทบของกิจกรรมท่องเที่ยวต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการเสนอทางเลือกในการลดและการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอน นำไปสู่การสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ด้วยความร่วมมือและความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนตามนโยบายของกระทรวง อว. มั่นใจว่า แอพพลิเคชั่นนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ และจะนำพาประเทศไทยเข้าสู่ภาพลักษณ์ การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่เป็นผู้นำระดับสากล โดย บพข. จะเป็นภาควิชาการที่หนุนเสริมการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งรัฐ เอกชน สมาคม สถาบันการศึกษา เพื่อทำให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมแก้ไข Pain point ของอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง

ในโอกาสนี้ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ในฐานะผู้แทนผู้อำนวยการสกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.กล่าวว่า ในปี 2564-2566 เกิดความร่วมมือเพื่อสร้างการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้กับประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่าง 8 ภาคีสำคัญ คือ สกสว./บพข. ททท. สสปน. อพท. หอการค้าไทย/สมาคมหอการค้าไทย และ TEATA เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ เป้าหมายการขับเคลื่อนงานวิจัยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในกลุ่มการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เราจะสนับสนุนงานวิจัย ที่เน้นการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Tourismทาง บพข. มีแผนในการร่วมกับภาคีเครือข่ายราว 50 องค์กรพันธมิตร และมีนักวิชาการ/นักวิจัยกว่า 200 คนจาก 20 มหาวิทยาลัยทั่วทุกภูมิภาคเป้าหมายการขับเคลื่อนงานวิจัยแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในกลุ่มการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยการสนับสนุนงานวิจัย ที่เน้นการมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Tourismโดยแผนงานในปี 2567 จะขยับจากการวัด ลด ชดเชย ผลิตภัณฑ์/เส้นทาง/กิจกรรมการท่องเที่ยวการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ขยายสู่การวัด ลด ชดเชย ในระดับองค์กร โดยร่วมกับ อบก. และ สมาคม TEATA ที่จะพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ที่มุ่งเน้นการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นต์ระดับองค์กร SMEs รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้ TEATA ร่วมกับ Tourlink สร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาด EU ซึ่งได้รับการหนุนเสริมจาก ททท. ในการทำการตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างดียิ่ง

โดยแผนในปี 2567 อาทิ 1) เราจะขยับจากการวัด ลด ชดเชย ผลิตภัณฑ์/เส้นทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สู่การวัด ลด ชดเชย ในระดับองค์กร โดยร่วมกับ อบก. และสมาคม TEATA ที่จะพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะเน้นระดับองค์กร SMEs ในอนาคตจะสามารถจัดทำการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ระดับองค์กรได้ 2) นอกจากนี้เราจะจัดทำ แนวทางรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Pathwayในภาคการท่องเที่ยวและบริการ ตามระเบียบวิธีการของ TGO ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำการออกแบบและขึ้นทะเบียน และ 3) รวมทั้งจะออกแบบเครื่องมือช่วยผู้ประกอบการ และสนับสนุนการจัดทำหลักสูตรการอบรมเพื่อพัฒนาบุคคลากรในภาคท่องเที่ยว ร่วมกับภาคีต่างๆ ที่ผ่านมาเรามีมาตรฐานการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์สำหรับผู้ประกอบการทางทะเล / Eco Spa / Eco Sport นอกจากนี้เรายังสามารถเชื่อมโยงเครื่องมือ PCR บริการทางการท่องเที่ยวกับ EU ผ่าน Camacal เราจะขยับทำให้ภาคท่องเที่ยวไทยสามารถรับมือกับข้อกีดกันทางการค้า และข้อกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ ในอนาคต อ.สุภาวดี กล่าวทิ้งท้าย

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ อบก./TGOกล่าวว่า การส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคการท่องเที่ยว มุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และ Net Zero เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันปัญหาโลกร้อนเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างกลไกให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมุ่งสู่ความยั่งยืน ทาง อบก.หรือ TGO จึงได้ร่วมพัฒนาเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะบริษัทนำเที่ยวนำไปใช้คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทราบแหล่งและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญของกิจกรรมท่องเที่ยวของตน ถือเป็นประโยชน์อย่างมากที่ทาง บพข.ได้นำเครื่องมือและองค์ความรู้ของ TGO พัฒนาสู่รูปแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้งานสามารถคำนวณคาร์บอนฟุตพรินท์ เลือกซื้อคาร์บอนเครดิต และได้รับใบประกาศเกียรติคุณเบ็ดเสร็จในแอปเดียว ผู้ใช้งานโดยเฉพาะบริษัทนำเที่ยวสามารถนำไปใช้ให้บริการกับนักท่องเที่ยวได้ นอกจากช่วยในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระดับสากล อีกด้วย

คุณวัชรี ชูรักษาผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท.กล่าวว่า นอกเหนือจากภาพจำของคนภายนอกที่มองว่าเราทำงานกับชุมชนอย่างเดียว แต่เรายังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา อพท. มีการจัดกิจกรรมที่คำนึงถึง Low Carbon Tourism มาแล้ว แต่ในปัจจุบันพยายามมุ่งไปสู่ Net Zero Carbon ซึ่ง อพท. มีเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศมากมาย มีการสร้างเกณฑ์มาตรฐานในการจัดชุมชมขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยปีที่แล้วมีชุมชนที่ผ่านการคัดเลือก 2 ชุมชน คือ ชุมชนบางกอบัว จังหวัดสมุทรปราการ และชุมชนบางน้ำเชี่ยว จังหวัดตราดโดยได้วางแผนที่จะขยายไปยังตลาดท่องเที่ยวคุณภาพสูง ซึ่งแอปพลิเคชัน “ZERO CARBON”จะเป็นนวัตกรรมสำคัญที่ตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่จะเป็นเทรนด์ใหมได้ในอนาคต

คุณวสุมนเนตรกิจเจริญ นายกสมาคม TEATA กล่าวว่าTEATA ในฐานะผู้นำผลลัพธ์จากงานวิจัย บพข. ไปสู่การใช้ประโยชน์ เราพบความน่าสนใจในหลายพื้นที่มาต่อยอดเพื่อยกระดับให้เป็นกิจกรรม หรือ เส้นทางท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

App : Zero Carbon จะทำให้การชดเชยคาร์บอนขยายไปสู่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็น App ที่ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานรายเล็กสามารถเข้าถึงคาร์บอนเครดิตได้อย่างสะดวก นอกจากนั้นยังสามารถจัดหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชยจนเสมือนไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างง่ายและรวดเร็ว

และจุดเริ่มต้นที่สำคัญสมาคมฯจะนำไปเชิญชวนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสมาชิกขององค์กรเครือข่ายที่ได้มีการลงนาม MOU ร่วมกับ TEATA จำนวน 31 องค์กร ภายใต้งานวิจัยทุน บพข. ในปีนี้ ให้นำไปใช้ทำกิจกรรมประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์อย่างเร็วและชดเชยคาร์บอนจนได้ใบประกาศเกียรติคุณจาก TGO ซึ่งจะทำให้มีฐานข้อมูลการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์จำนวนมากจากหลากหลายเส้นทางท่องเที่ยวและมากจำนวนครั้ง รวมถึงเรายังจะส่งเสริมพันธมิตร ชุมชน และผู้ประกอบการอื่นๆ ซึ่งเป็น Suppliers ด้านการท่องเที่ยว นอกเหนือจากการส่งเสริมองค์กร 31 องค์กร ให้รู้จักและใช้ App : Zero Carbon มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สสปน.กล่าวว่าอุตสาหกรรมไมซ์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก ซึ่งสสปน. ไม่ได้ละเลยปัญหาเหล่านี้ มีความตระหนักในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาโดยตลอด จึงออกแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) มุ่งมั่นจะเป็นพันธมิตรเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ ขับเคลื่อนประเทศไทยและพื้นที่เป้าหมายในฐานะปลายทางไมซ์ ด้วยนวัตกรรมและการสร้างความยั่งยืร่วมกันโดยที่ผ่านนานั้นสร้างความร่วมมือกับ อบก. มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี มีการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านโปรแกรม Excel โดยมีทีมจากอบก.เข้ามาช่วยดูแล แต่ตอนนี้มีแอปพลิเคชัน “Zero Carbon” ที่สามารถใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน ต้องขอบคุณ สกสว. บพข. ที่สนับสนุนทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ให้ใช้งานสะดวกมากยิ่งขึ้น

นางสาวณัฐพรรณ ตรีเดชาผู้อำนวยการกองส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว ททท.กล่าวว่า เทรนด์การท่องเที่ยวของโลกกำลังมาแรงในเรื่องของคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หากไม่ทำเรื่องนี้ก็จะตกขบวน ททท.เองก็ได้มีการสนับสนุนเส้นทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนครบทุกภาคของประเทศไทย พอมีแอปพลิเคชัน “Zero Carbon” เกิดขึ้นก็ดีใจเป็นอย่างมาก เพราะททท. ก็ทำเรื่องคาร์บอนมานาน จะได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและผลักดันแอปพลิเคชันนี้ไปสู่การใช้งานร่วมกับชุมชนต่างๆที่อยู่ในเส้นทาง เพื่อมุ่งสู่เส้นทางท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

นอกจากนี้ยังมี แนะนำการใช้งานแอปพลิเคชัน “Zero Carbon”โดย คุณพวงพันธ์ ศรีทอง ผู้จัดการสำนักรับรองธุรกิจคาร์บอนต่ำ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งในวันนี้แอปพลิเคชันได้พัฒนาเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และพร้อมให้ทุกท่านใช้งานบน Smartphone สามารถเข้าไปโหลดแอปพลิเคชัน “ZERO CARBON” ได้ที่ App Store และ Google play เพื่อทำการการวัด การลด และการชดเชยคาร์บอนปล่อยออกมาจากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไมซ์ ได้ด้วยตนเอง

มาร่วมพลังขับเคลื่อนให้ไทยเป็นประเทศผู้นำระดับสากลด้านการท่องเที่ยวที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Tourism แสดงให้เห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินไปด้วยกันได้ สกสว.และบพข.จะร่วมกันพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมอย่างไม่หยุดนิ่ง ตอบโจทย์ความท้าทายให้การท่องเที่ยวไทยเกิด Net Zero Emission Routes / Net Zero Emission Organization ในปี 2569-2570  การพัฒนานี้จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก รวมทั้งช่วยปกป้องและรักษาสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่พวกเราได้รับมาจากบรรพบุรุษ และยังช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนและท้องถิ่นให้มั่นคงและเข้มแข็งยิ่งขึ้น พร้อมทั้งส่งมอบมรดกทางธรรมชาติที่ยั่งยืนให้กับลูกหลานของเราในอนาคต เพื่อให้พวกเขาได้สัมผัสและเชื่อมต่อกับความงามของธรรมชาติที่เรามีอยู่ในวันนี้อย่างต่อเนื่องและลึกซึ้งยิ่งขึ้นในอนาคต

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) มีหน้าที่ในจัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ โดยเฉพาะเรื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการที่มุ่งเน้นการสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ ผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน โดยการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งบริหารจัดการกองทุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน