In News

กทม.เคาะร้านอาหารปิด3ทุ่มห้ามดื่มสุรา



กรุงเทพฯ-คกก.ควบคุมโรคติดต่อ กทม.ออกมาตรการงดการรวมกลุ่มป้องกันการระบาดโควิด-19 เข้มร้านอาหาร ห้างฯ ปิด21.00 น. ห้ามดื่มเหล้า-เบียร์ในร้าน ส่วนเซ่เวนฯ ปิด 5 ทุ่มเปิดตี4 ดีเดย์ 18 เมษายนนี้เป็นต้นไป

(16 เม.ย.64) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร : พล.ตอ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9/2564 ว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน รวมทั้งที่ประชุมได้เห็นชอบปฏิบัติตามข้อกำหนดของศบค.ซึ่งได้ประกาศในวันนี้ (16 เม.ย.64) ให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และปฏิบัติมาตรการต่างๆไม่น้อยกว่า 14 วันนับตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.64เป็นต้นไป ดังนี้  ร้านอาหารเปิดให้นั่งทานอาหารไม่เกิน 21.00 น. และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเวลา 23.00 น.ในลักษณะของการนำไปบริโภคที่อื่น โดยงดจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน  สถานบันเทิงผับ บาร์คาราโอเกะ อาบอบนวดปิดให้บริการ   ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าเปิดให้บริการถึง 21.00 น. (งดให้บริการตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุก)  ร้านสะดวกซื้อเปิดได้เวลา 04.00-23.00 น. สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชางดการเรียนการสอนในห้องเรียน  สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ฟิตเนสและยิมเปิดให้บริการถึง 21.00 น. นอกจากนี้ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มเกิน 50 คน และกิจกรรมที่เป็นงานเลี้ยง งานสังสรรค์ หากเกิน 50 คนต้องขออนุญาตสำนักงานเขตพื้นที่ก่อน และจะได้เร่งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้สถานประกอบการ บริษัทสลับวันทำงาน เหลื่อมเวลาทำงานหรือใช้มาตรการwork from home ให้ได้มากที่สุด 

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดที่มีจำนวนมากขึ้น โดยกรุงเทพมหานครสามารถรับผู้ป่วยโควิดได้ 9,183 คน มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแล้ว 4,939 คน และรองรับได้อีก 4,244 คน แบ่งแผนการรับผู้ป่วยออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 การเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครให้รองรับผู้ป่วยโควิดให้มากขึ้น ทั้งในโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครและนอกสังกัด ระดับที่ 2 การเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการ (Hospitel) สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ให้รักษาตัวในโรงแรมที่จัดหาไว้ให้ และระดับที่ 3 จัดทำโรงพยาบาลสนามเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับผู้ป่วย โดยขณะนี้กรุงเทพมหานครได้พร้อมรองรับ ณ โรงพยาบาลเอราวัณ 1 (ศูนย์เฉลิมพระเกียรติฯบางบอน) สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 200เตียง และโรงพยาบาลเอราวัณ 2 (ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนาหนองจอก) สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 350 เตียง นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลกองทัพและโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่ยังสามารถรองรับผู้ป่วยได้อีก ในส่วนของความล่าช้าในการรับ-ส่งผู้ป่วย ได้เร่งเพิ่มศักยภาพการทำงานโดยให้ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักเทศกิจและ 50 สำนักงานเขตจัดรถร่วมให้บริการรับส่งผู้ป่วยที่ตกค้างเพื่อให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็วและปลอดภัยต่อไป